
หลักสูตรการแพทย์แผนไทย วิทยาลัยเฮลท์แอนด์เวลเนส มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดโครงการเสริมทักษะทางวิชาชีพ “เดินป่าศึกษาภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านไทย” ระหว่างวันที่ 9–10 พฤษภาคม 2568 ณ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสัมผัสภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านไทยอย่างใกล้ชิด ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ตั้งแต่การศึกษาข้อมูล การเดินป่าเก็บสมุนไพรจากธรรมชาติ ไปจนถึงการจัดทำตำรับยา โดยอาศัยความรู้ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติในสถานการณ์จริง
อาจารย์ พท.อภิรัช ประชาสุภาพ หัวหน้าหลักสูตรแพทย์แผนไทย กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นภายใต้รายวิชา เภสัชกรรมไทย และการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 ทั้งในระดับปริญญาตรีและประกาศนียบัตรวิชาชีพแพทย์แผนไทย โดยกิจกรรม ‘เดินป่า’ เป็นการบูรณาการการเรียนรู้จากห้องเรียนสู่ภาคสนาม ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายหมอพื้นบ้านในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีทั้งความรู้เชิงลึกและประสบการณ์จริง ช่วยให้นักศึกษาเข้าใจองค์ความรู้ได้อย่างรอบด้าน ทั้งในด้านวิชาการ ทักษะปฏิบัติ และการอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย นักศึกษาได้มีโอกาสเห็นสมุนไพรของจริงในธรรมชาติ ซึ่งหมอพื้นบ้านใช้รักษาโรค แตกต่างจากสมุนไพรที่มักพบในท้องตลาดในรูปแบบของแห้ง เช่น ใบแห้งหรือผงบด เป็นต้น
“สำหรับรูปแบบการจัดกิจกรรมแบ่งเป็นสองวัน โดยกิจกรรมในวันแรกจัดในรูปแบบ “แรลลี่เดินป่า” โดยแบ่งนักศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม ให้เรียนรู้และเก็บพืชสมุนไพรตามโจทย์ที่ได้รับ ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ศึกษาสมุนไพรแก้ไข้, กลุ่มที่ 2 ศึกษาสมุนไพรแก้ท้องเสีย และกลุ่มที่ 3 ศึกษาสมุนไพรขับลม โดยจำกัดกรอบความรู้ให้เหลือเพียง 30–40 ชนิด เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้เชิงลึกอย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นนำสมุนไพรที่เก็บได้มาศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำตำรับยาด้วยตนเองตามหลักวิชาการ หัวหน้าหลักสูตรแพทย์แผนไทย กล่าว
กิจกรรมในวันที่สอง นักศึกษาจะได้เรียนรู้ภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้าน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การรักษาพิษงูและสัตว์มีพิษ นักศึกษาจะได้เรียนรู้สมุนไพรที่ใช้ในการรักษาพิษจากงู โดยหมอพื้นบ้านจะอธิบายถึงชนิดของงู พิษที่มีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น ระบบประสาท เลือด และกล้ามเนื้อ พร้อมทั้งแนวทางการรักษาแผลหลังถูกงูกัด ซึ่งในอดีตหมอพื้นบ้านใช้สมุนไพรในการฟื้นฟูแผลให้ไม่เน่าเสีย ต่างจากแนวทางปัจจุบันที่มักใช้วิธีล้างแผล และหากไม่ดีขึ้นก็ต้องตัดเนื้อที่เน่าออก
อาจารย์ พท.อภิรัช ประชาสุภาพ ยังกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีภูมิปัญญาการย่ำขาง (ย้ำเหล็กไฟ) เทคนิคการบำบัดอาการปวดเมื่อยโดยใช้เท้าเหยียบน้ำมันสมุนไพรที่นาบกับเหล็กร้อน แล้วนวดไปตามแนวเส้น เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ยังคงใช้ได้ผลในภาคอีสาน และการรักษากระดูกหักแบบพื้นบ้าน โดยใช้ไม้ไผ่หรือวัสดุจากธรรมชาติมาทำเป็นเฝือกเพื่อดามกระดูกหัก แทนการใช้เฝือกสำเร็จรูป นักศึกษาจะได้เรียนรู้วิธีการสร้างเฝือกพื้นบ้านและการประคองกระดูกโดยอาศัยวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์
“นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้เรื่อง “การวางปลิง” ซึ่งเป็นหัตถการพิเศษในศาสตร์แพทย์แผนไทย โดยปลิงมีสารฮีรูดิน (Hirudin) ที่ช่วยให้เลือดไหลเวียนดี ไม่แข็งตัว จึงสามารถนำมาใช้บรรเทารักษาอาการต่างๆ ตามภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ทั้งนี้จำเป็นต้องดำเนินการอย่างปลอดภัยและอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดไม่เพียงช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้ภูมิปัญญาจากต้นทาง แต่ยังสามารถนำความรู้ไปใช้จริงในชุมชน เช่น การจัดตำรับยาพื้นบ้าน การรักษาแผลจากพิษงูอย่างถูกวิธี รวมถึงสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจสุขภาพในอนาคตได้ เพราะเราสอนทั้งรากเหง้าของภูมิปัญญา และการประยุกต์ในบริบทสมัยใหม่” หัวหน้าหลักสูตรแพทย์แผนไทย ระบุ