
การท่องเที่ยวสมัยนี้ไม่ใช่แค่ "ไปให้ถึง" แต่ต้อง "เข้าถึงให้ลึก" เพราะนักท่องเที่ยวยุคใหม่ไม่ได้ต้องการเพียงการเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ๆ เพื่อชมความสวยงามของธรรมชาติหรือสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่อยากรู้และอยากเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงประสบการณ์ที่ลึกซึ้ง มีความหมาย และตรงกับความสนใจเฉพาะตัวมากขึ้น
ดังนี้ คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จึงชูวิชาเด่น รายวิชา TC318 การท่องเที่ยวตามความสนใจเฉพาะทาง ของหลักสูตรการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ที่ตอบโจทย์ทั้งนักศึกษาและนักท่องเที่ยวยุคใหม่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ออกนอกห้องเรียนสู่การลงสนามจริง พร้อมกับโจทย์การออกแบบเส้นทางสุดฮิต ในปีนี้ คือ “การท่องเที่ยวเชิงอาหาร” (Food Tourism) ที่เชื่อมโยงรสชาติความรู้ และประสบการณ์เข้าไว้ด้วยกัน
อาจารย์ภควดี วรรณพฤกษ์ ผู้รับผิดชอบรายวิชา กล่าวว่า ในปีนี้ทางวิชาเน้นเรื่องของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Food Tourism เนื่องจากเป็นกระแสการท่องเที่ยวที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และนักศึกษาก็มีความสนใจในหัวข้อนี้อย่างมาก จึงได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในรูปแบบภาคสนาม เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรง
การเรียนรู้ภาคสนามครั้งแรกเป็นการพานักศึกษาเรียนรู้ที่มาของวัตถุดิบหลักในอาหารไทย ได้แก่ ข้าวและมะนาว โดยเดินทางไปยัง Patom Organic Village ในสวนสามพราน จังหวัดนครปฐม นักศึกษาได้ฝึกดำนาในแปลงนาแบบดั้งเดิม ทดลองฝัดข้าว สีข้าวด้วยเครื่องมือโบราณ รวมถึงเยี่ยมชมตลาดสุขใจ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสามพรานโมเดลที่ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน จากนั้นจึงเดินทางไปยัง Lemon Me Farm เพื่อศึกษากระบวนการผลิตมะนาวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นักศึกษาได้รับความรู้จากผู้ก่อตั้งฟาร์ม เรียนรู้วิธีเพิ่มผลผลิตและยกระดับมะนาวไทยให้สามารถแข่งขันกับเลม่อนในตลาดต่างประเทศได้
ส่วนการออกภาคสนามครั้งที่สอง นำนักศึกษาไปสำรวจวัฒนธรรมอาหารนานาชาติในกรุงเทพฯ เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องของเบเกอรี่และคนไทยยุคหลังสงครามโลก ผ่านขนมพายของร้านสนั่น เบเกอรี่ ก่อนเข้าสู่ตลาดใหม่เยาวราช นำโดย อาจารย์สมชัย กวางทองพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ของเยาวราช นักศึกษาได้สัมผัสวัฒนธรรมอาหารของชาวเยาวราชและลิ้มลองอาหารชื่อดัง อาทิ น้ำสมุนไพรจากร้านฉั่งแปะ ขนมจีบร้านลิ้มอ่วงซุย และเป็ดย่างร้านก๊ำหล่ง พร้อมเรียนรู้เรื่องวัตถุดิบจีนจากร้านค้าดั้งเดิมอย่างง่วนสูน และร้านขนมตั้งเต็กเฮง
ในช่วงบ่าย คณะเดินทางไปยังย่านพร้อมพงษ์ เพื่อสัมผัส “Little Japan” ย่านที่มีคนญี่ปุ่นอยู่อาศัยจำนวนมาก นักศึกษาได้ฟังเรื่องราวความเชื่อมโยงของย่านนี้กับธุรกิจผลิตแป้งสาลีแห่งแรกของประเทศไทยรับประทานอาหารแบบโรงอาหารญี่ปุ่นที่ร้าน Kurathai Shokudo และเรียนรู้วัฒนธรรมการบริโภคของชาวญี่ปุ่นในไทยที่ Fuji Super และ Custard Nakamura ภาคสนามปิดท้ายด้วยกิจกรรม Tea Tasting ที่ร้าน Monsoon Tea เพื่อเรียนรู้เรื่องชา เครื่องดื่มจากต่างแดนที่มีบทบาทสำคัญในวัฒนธรรมอาหารไทย นักศึกษาได้สัมผัสวิธีการปลูกชาแบบยั่งยืน และลองชิมผลิตภัณฑ์ชาป่าที่ผลิตโดยประยุกต์ใช้กรรมวิธีการหมักใบเมี่ยง
อาจารย์ภควดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นักท่องเที่ยวที่ซื้อบริการ Food Tour มักมีความสนใจลึกในเรื่องอาหาร เขาอยากฟังเรื่องเล่าเบื้องหลังการกินของคนในท้องถิ่น เราจึงอยากให้นักศึกษาเข้าใจว่า เรื่องราวที่เล่าได้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ อาหารไทยคลาสสิก เท่านั้น แต่รวมถึงมะนาว ข้าว ขนมจีบ น้ำชา หรือแม้แต่พายฝรั่ง หากเรารู้จักตั้งคำถามและค้นคว้า ก็สามารถนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ
ด้านเสียงสะท้อนจากนักศึกษาในรายวิชานี้ล้วนสะท้อนถึงประสบการณ์ที่มีคุณค่า นายปุณยวัฒน์ นักศึกษาหลักสูตรการท่องเที่ยวและธุรกิจอีเวนต์ ชั้นปีที่ 1 กล่าวว่า สนุกมาก เพราะเป็นการออกทริปครั้งแรก ได้เรียนรู้ว่าการจัดเส้นทางทัวร์จะต้องคำนึงถึงหลายอย่าง โดยเฉพาะการเลือกสถานที่ รู้เลยว่าไม่ใช่แค่เลือกร้านอร่อย แต่ต้องมีเรื่องเล่าหรือข้อมูลที่น่าสนใจ รวมทั้งต้องเล่าให้ไหลลื่นและสนุกด้วย
นอกจากนี้ นางสาวณัฏฐณิชา นักศึกษาจากหลักสูตรเดียวกัน กล่าวว่า การได้ลงพื้นที่จริงทำให้เห็นว่า สิ่งที่เคยได้ยินหรือเห็นในรูปบางทีมันไม่เหมือนความจริง การได้สัมผัสสถานที่ภาคสนามทำให้เข้าใจมากขึ้นเยอะ เช่นเดียวกับ นางสาวณัฏฐนันท์ ซึ่งได้เล่าความน่าประทับใจจากการได้เรียนรู้จากวิชานี้ว่า หลังจากเรียนวิชานี้ รู้สึกว่าการท่องเที่ยวมีอะไรมากกว่าที่คิด จากที่เคยคิดว่าการท่องเที่ยวคือแค่พาเที่ยวเฉย ๆ ก็ได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วมันมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งท่องเที่ยวเชิง Pop-culture เชิงสุขภาพ หรือเชิงนิเวศ ซึ่งบางรูปแบบก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน ที่สำคัญคือ ได้ฝึกทำงานจริง ช่วยกันวางแผนงานโปรเจกต์กลุ่ม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเวลาออกพื้นที่ ทำให้ได้ทั้งความรู้และทักษะการทำงานไปพร้อมกัน โดยหลักสูตรดังกล่าวไม่ใช่แค่การเรียนในห้องเรียน แต่เป็นการสร้างนักศึกษาที่เข้าใจและทันต่อความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมและสามารถสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่มีคุณค่าให้กับนักท่องเที่ยวยุคใหม่ได้อย่างแท้จริง