
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2568 ที่ผ่านมา นักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน วิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ได้รวมพลังสร้างสรรค์กิจกรรมสัมมนาออนไลน์ ภายใต้หัวข้อ “Future Teachers Future Classroom: เรียน รู้ รอดในยุคดิจิทัล” ผ่านระบบ Zoom ซึ่งได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม มีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน จากหลากหลายสถาบันทั่วประเทศ สะท้อนถึงความตื่นตัวของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาทักษะและแนวคิดของครูในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
กิจกรรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิสองท่าน ได้แก่ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน และอาจารย์สุวคนธ์ อินป้อง หรือ ครูเลดี้เก๋เก๋
ทั้งสองท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและส่งต่อความรู้ในประเด็นสำคัญของการศึกษาไทยยุคใหม่ เช่น บทบาทและความท้าทายของครูในโลกที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การศึกษาไทยในบริบทดิจิทัล และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เทคนิคการสอนที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ทั้งในห้องเรียนออนไลน์และออฟไลน์ และเทคนิคการสอนภาษาอังกฤษตามกรอบ CEFR พร้อมแนวทางประยุกต์ใช้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ
บรรยากาศภายในงานเต็มไปด้วยความเข้มข้น เป็นกันเอง และเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ถาม-ตอบข้อสงสัยกับวิทยากรอย่างใกล้ชิด ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยพลังสร้างสรรค์
เบื้องหลังแนวคิดและแรงบันดาลใจ
ครูเตย หรือ นางสาววรรณนิพา มานะต่อ ตัวแทนนักศึกษาผู้จัดกิจกรรม เปิดเผยว่า แนวคิดหลักในการเลือกหัวข้อสัมมนานี้ มาจากมุมมองของสมาชิกในกลุ่มที่เชื่อว่า “ครูยุคใหม่ ไม่ใช่แค่ผู้ถ่ายทอดความรู้ แต่ต้องเป็นผู้ออกแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ทันโลก และเข้าถึงนักเรียนได้จริง” โดยเฉพาะในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ผู้จัดกิจกรรมยังเล่าถึงความประทับใจในตัววิทยากรทั้งสองท่าน ที่ให้ความร่วมมืออย่างดีตั้งแต่ขั้นตอนการประสานงาน ไปจนถึงการถ่ายทอดความรู้จริงในวันงาน สะท้อนให้เห็นถึงทักษะและแนวทางการทำงานของครูมืออาชีพ ที่เข้าใจความต้องการของผู้เรียน และสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้สอดรับกับบริบทปัจจุบันได้อย่างลงตัว
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ภิญโญ แม้นโกศล คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงกิจกรรมครั้งนี้ว่า เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการส่งเสริมให้นักศึกษาได้ลงมือปฏิบัติจริง เรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกัน ฝึกทักษะที่จำเป็นต่อบทบาทครูยุคใหม่ ทั้งด้านการออกแบบการเรียนรู้ การสื่อสาร และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยต่อยอดให้ผู้เรียนสามารถก้าวทันความเปลี่ยนแปลง และพร้อมเผชิญความท้าทายในสายอาชีพครูอย่างแท้จริง
“ต้องขอชื่นชมความสามารถของนักศึกษาที่สามารถจัดกิจกรรมนี้ออกมาได้อย่างราบรื่น และขอบคุณวิทยากรทั้งสองท่านที่มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมทุกคน” คณบดีวิทยาลัยครุศาสตร์ กล่าวทิ้งท้าย