DPU นำทัพผู้เชี่ยวชาญ อบรมพัฒนาทักษะ AI เสริมสร้างทุกโอกาสในโลกดิจิทัล นักเรียน รร.เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์

11 กุมภาพันธ์ 2568
รัชพล ธนศุทธิสกุล
  • faculty-mobile

คณาจารย์วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เดินทางไปอบรมการใช้เทคโนโลยี AI ให้กับนักเรียนโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ เมืองทองธานี เพื่อเปิดโอกาสและส่งเสริมความเข้าใจพร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพการใช้ AI ในการศึกษาและสร้างสรรค์ โดยมุ่งหวังให้เยาวชนนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันและเป็นแนวทางในการตัดสินใจศึกษาต่อ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา

กิจกรรมอบรมประกอบด้วยการ Workshop ที่เน้นการปฏิบัติจริง เพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสและเรียนรู้การใช้เครื่องมือ AI ที่เป็นประโยชน์และใช้งานง่าย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ การอบรม Chat GPT และการอบรม Generative AI บน Canva โดยในการอบรมครั้งนี้ นักเรียนได้เรียนรู้วิธีการตั้งคำถามที่มีความถูกต้องและประสิทธิภาพเพื่อใช้ Chat GPT ในการเขียนโค้ดและหาข้อมูลอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการสร้างเกม 2D แบบง่ายๆ โดยไม่ต้องเขียนโค้ด ซึ่งช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาของนักเรียนได้เป็นอย่างมาก

ในส่วนของการอบรม Generative AI บน Canva นักเรียนได้เรียนรู้การใช้ AI ในการสร้างภาพจากข้อความหรือจินตนาการได้ง่ายๆ เพียงแค่พิมพ์ข้อความอธิบายเข้าไป ก็สามารถออกแบบผลงานที่แปลกใหม่และน่าสนใจ พร้อมทั้งฝึกใช้ AI ในการสร้างเสียงพูดจากข้อความภาษาไทยเพื่อเสริมการนำเสนอผลงาน และสร้างมิติให้กับงานออกแบบของตนเอง การอบรมในส่วนนี้ไม่เพียงแต่เปิดมุมมองใหม่ในการเรียนรู้และสร้างสรรค์ แต่ยังช่วยให้นักเรียนสามารถออกแบบงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อาจารย์สนายุ จินตนาวรรณกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการใช้ Chat GPT ว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเขียนโค้ดและค้นหาข้อมูล โดยเฉพาะการตั้งคำถามที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อมูลที่รวดเร็วและตรงตามความต้องการ นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างการนำ Chat GPT ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยการเชื่อมต่อ API ของ Chat GPT เข้ากับแอปพลิเคชันต่างๆ ซึ่งช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

"การตั้งคำถามที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการหาข้อมูลและเขียนโค้ดได้อย่างรวดเร็ว นักเรียนสามารถเรียนรู้และพัฒนาแอปพลิเคชันจากการเชื่อมต่อ API ของ Chat GPT เข้ากับแอปฯ ต่างๆ ได้" อาจารย์สนายุ เผย

อาจารย์อุดมลักษณ์ อำพันธุ์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการใช้ Generative AI บน Canva ว่า AI ใน Canva ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสร้างภาพจากข้อความได้ง่ายๆ เพียงแค่พิมพ์ข้อความหรือคำอธิบายเข้าไป ทำให้การออกแบบสร้างสรรค์ได้ง่ายขึ้นและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น นอกจากนี้ยังได้แนะนำวิธีการใช้ AI นำเสนองานแทนโดยพิมพ์ข้อความภาษาไทยเพื่อสร้างเสียงพูดจากข้อความภาษาไทยในการนำเสนอผลงาน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความน่าสนใจและสร้างมิติให้กับงานออกแบบต่างๆ

“การพิมพ์ข้อความแล้วให้ AI สร้างภาพตามคำสั่งทำให้การออกแบบมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถใช้ AI ในการนำเสนอผลงานในรูปแบบต่างๆ เช่น การสร้างเสียงพูดจากข้อความภาษาไทยใน Canva” อาจารย์อุดมลักษณ์ กล่าว

ทั้ง “อาจารย์สนายุ” และ “อาจารย์อุดมลักษณ์” ยังได้เน้นย้ำถึงการใช้ AI อย่างมีจริยธรรม โดยเฉพาะการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ได้จาก AI และการอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อมูลอย่างถูกต้อง ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนในเรื่องการใช้เทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบ พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาและเสริมสร้างทักษะด้าน AI ในการศึกษา โดยเฉพาะในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศและปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในยุคดิจิทัล โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์มีการบูรณาการ AI เข้ากับรายวิชาต่างๆ เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ AI ในการเรียนรู้ การแก้ปัญหา และการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

“ทั้ง 2 สาขายังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เราก็มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความรู้และทักษะด้าน AI ในทุกสาขาวิชา เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้การใช้ AI ในการแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ยกตัวอย่าง เช่น การใช้ Chat GPT ในการค้นหาข้อมูลหรือการใช้ AI ในโปรแกรม Canva เพื่อการออกแบบ ซึ่งทำให้นักศึกษาสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยกิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยนักเรียนในการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อ ในสาขาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นสาขาที่มีโอกาสและความต้องการสูงในตลาดงาน” อาจารย์อุดมลักษณ์ กล่าว

การอบรมครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้แก่นักเรียน แต่ยังเป็นโอกาสในการเสริมทักษะที่สามารถนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีและการทำงานทางด้านดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการเรียนและการทำงานในอนาคตได้อย่างมั่นใจ นอกจากนี้กิจกรรมยังสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในการพัฒนาและเสริมทักษะให้กับเยาวชนไทยร่วมกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง เพื่อเตรียมความพร้อมให้พวกเขาก้าวทันโลกแห่งเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลที่เต็มไปด้วยโอกาสและการเปลี่ยนแปลง