ANT DPU ร่วมแสดงศักยภาพ อว.แฟร์ “การพัฒนาเกม 2D แบบ No Code” และ ”AI For VR 101” เปิดประตูสู่โลกแห่งการสร้างสรรค์และเทคโนโลยี

24 กันยายน 2567
Default Admin
  • faculty-mobile

วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี (ANT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัด Mini Workshop ในมหกรรมงาน อว. แฟร์ (SCI POWER FOR FUTURE THAILAND) งานที่รวมสหวิทยาการทั้งด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา ประจำปี 2567 ในหัวข้อ "การพัฒนาเกม 2D แบบ No Code" และ "AI For VR 101" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซน B เมื่อวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2567 โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และ ผศ. ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดี สายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เข้าร่วมรับชม

สำหรับวันแรกของกิจกรรมอบรม Workshop ในหัวข้อ “การพัฒนาเกม 2D แบบ No Code“ ด้วยโปรแกรม GDevelop บน iPad, Mobile, Laptop โดยผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ ณพล ศิริภิบาล และ อาจารย์ ภัทรา รัตนโมรานนท์ อาจารย์ประจำหลักสูตร สาขาการออกแบบเชิงโต้ตอบและการพัฒนาเกม วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี พร้อมด้วยทีมงานเป็นวิทยากรในการอบรม โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งสร้างความเข้าใจหลักการพื้นฐานของการพัฒนาเกม 2D และสร้างการเรียนรู้การใช้งานโปรแกรม GDevelop ในการสร้างเกม และสามารถสร้างเกม 2D อย่างง่ายเป็นของตนเองได้ โดยเริ่มตั้งแต่การทำความเข้าใจหลักการพื้นฐาน ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงขั้นตอนสำคัญในการสร้างเกม 2D ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบตัวละคร ฉาก หรือแม้แต่การเขียนสคริปต์เพื่อควบคุมเกม

พร้อมกันนั้นยังเรียนรู้การใช้งานโปรแกรม GDevelop อย่างละเอียด ทุกขั้นตอนตั้งแต่การติดตั้ง การสร้างฉาก การสร้างตัวละคร การเพิ่มเอฟเฟกต์เสียงและภาพ ไปจนถึงการทดสอบและเรียนรู้เทคนิค เคล็ดลับต่างๆ รวมไปจนถึงการเผยแพร่เกมผ่านการปฏิบัติจริง เพื่อสร้างเกม 2D แบบง่ายได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเปิดประตูสู่เส้นทางอาชีพในอุตสาหกรรมเกมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

ส่วนวันที่สองของกิจกรรมอบรม Workshop หัวข้อ “AI For VR 101” นำโดย ผศ.บัญญพนต์ พูลสวัสดิ์ รองคณบดี วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี อาจารย์วิชชา เจริญสุข และอาจารย์อนุวัตน์ รัตนสมบูรณ์ อาจารย์ประจำหลักสูตร สาขาอินเตอร์แอ็คทีฟดิจิทัลอาร์ต เป็นวิทยากรพาผู้เข้าอบรมเดินทางสำรวจโลกแห่งความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์ประสบการณ์ Virtual Reality ที่เหนือจินตนาการ และสร้างความเข้าใจโมเดลปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ Generative AI (GANs, VAE, Diffusion Model) และเรียนรู้วิธีการใช้ AI สกัดภาพ Panorama 360 องศา เรียนรู้การนำภาพ Panorama 360 องศา ไปใช้แสดงผลในเทคโนโลยี VR หรือ Virtual Reality

นอกจากนี้ยังเรียนรู้การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์ (Generative AI) ในการสร้างสรรค์โลกเสมือนจริงที่สมจริง และน่าตื่นตาตื่นใจ การประยุกต์ใช้ใน VR โดยเน้นที่โมเดล Generative AI อันทรงพลัง เช่น GANs, VAE, และ Diffusion Model ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสรรค์ภาพและวัตถุต่างๆ ในโลกเสมือนจริง

สำหรับบรรยากาศงานในทั้ง 2 วัน ได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามจากนักเรียน อาจารย์ รวมถึงบรรดาคอเกมและผู้ที่เข้าร่วมงาน อว.แฟร์ โดยเข้าร่วมการอบรมด้วยความสนุกสนานและกระตือรือร้น โดยต่างพึงพอใจกับเนื้อหาและรูปแบบการอบรม และพร้อมกับบอกว่ากิจกรรมนั้นเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างทักษะใหม่ๆ และแรงบันดาลใจในการนำ AI ไปประยุกต์ใช้ในงานสร้างสรรค์ต่อไป

ทั้งนี้กิจกรรม Mini Workshop นี้ นับเป็นความสำเร็จในการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ AI ในการสร้างสรรค์ประสบการณ์ VR ให้กับผู้สนใจทุกกลุ่ม และถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในประเทศไทยให้พร้อมรับมือกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยวิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ พร้อมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ นวัตกรรมด้านการศึกษาต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมที่ดีแบบนี้ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ ANT DPU : College of Creative Design & Entertainment Technology เพื่อไม่พลาดในทุกข่าวสารและเทคโนโลยี