สถานประกอบการ 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายร่วมสนับสนุนนโยบาย DPU CWIE เรียนรู้ผ่านการทำงาน

สายงานวิชาการ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดโครงการ DPU Career Day ประจำปี พ.ศ. 2566 ในวันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00-17.00 น.  ณ ห้องประชุมสนมสุทธิพิทักษ์อนุสรณ์ เพื่อให้นักศึกษา DPU ทุกชั้นปี เห็นคุณค่า มูลค่า และสมรรถนะของตนเองจากการทำงาน ได้เป็นฟันเฟืองหนึ่งในภาคธุรกิจของประเทศตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา และเพื่อตอบสนองการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ต้องการกำลังคนจากมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสถานประกอบการที่มีข้อตกลงความร่วมมือด้าน CWIE โดยมีสถานประกอบการในเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งต้องการรับสมัครพนักงานประจำ รับสมัครนักศึกษาไปเพิ่มพูนประสบการณ์ในรายวิชา CWIE  และรับนักศึกษาไปทำงานพิเศษเป็นรายได้ระหว่างเรียน ตลอดจนนักศึกษาทุกชั้นปีมาร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการ ประธานในพิธี กล่าวต้อนรับและขอบคุณสถานประกอบการที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนให้นักศึกษา DPU ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานทันที ตั้งแต่ยังไม่สำเร็จการศึกษา โดยระบุว่า ตลอด 55 ปี ปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “นักธุรกิจเป็นผู้สร้างชาติ” นำทางให้ผู้บริหาร บุคลากร และนักศึกษา DPU เห็นความสำคัญของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่มีต่อความเจริญของประเทศอย่างชัดเจน ดังนั้น เมื่อกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. มีนโยบายพัฒนากำลังคนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยแนวคิดการจัดการศึกษาแบบบูรณาการกับการทำงาน หรือที่เรียกกันว่า CWIE มหาวิทยาลัยจึงตอบสนองทันที โดยประสานความร่วมมือกับสถานประกอบการธุรกิจซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานตามนโยบายนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู กล่าวว่า “ตามแนวคิดของ อว. คำว่า CWIE หมายรวมทั้งการฝึกงานและสหกิจศึกษาแบบเดิมที่สถานประกอบการคุ้นเคย และสหกิจศึกษาแบบใหม่ซึ่งยกระดับขึ้นด้วยแนวคิดสำคัญ 3 ข้อ คือ 1. เพิ่มโอกาสและเวลาเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (Experiential-based Learning) แก่นักศึกษา 2. ส่งเสริมให้นักศึกษาหลากหลายสาขาได้เข้าไปประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อพัฒนาธุรกิจ และ 3. เพิ่มการมีส่วนร่วมของสถานประกอบการ ในการออกแบบหรือพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัย (Co-design Curriculum)”

“นอกจากการดำเนินงาน CWIE ตามนโยบายของ อว. แล้ว มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับงานพิเศษของนักศึกษาทุกชั้นปี เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้รู้จักโลกจริงของการทำงาน ซึ่งทุกธุรกิจต่างอาศัยความรู้ความชำนาญที่หลากหลาย เป็นฟันเฟืองประกอบและส่งเสริมกัน นักศึกษาจึงต้องรู้จักทำงานร่วมกับผู้ที่อยู่ต่างบทบาทหน้าที่ ต้องเปิดใจเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ทักษะใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตนเอง การแสวงหาความรู้นอกห้องเรียนจากงานพิเศษเป็นรากฐานสำคัญอย่างยิ่งของทักษะการเรียนรู้เพื่อ upskill และ reskill ตลอดชีวิต”

กิจกรรมในโครงการ นอกจากจะเป็นการออกบูธรับสมัครงานประจำ งานพิเศษ และเจรจาความร่วมมือเรื่องสหกิจศึกษาและการฝึกงานกับสถานประกอบการแล้ว ยังมีการบรรยายของสถานประกอบการ 9 แห่ง ใน หัวข้อ “Post-COVID ธุรกิจยังไปได้สวย” ซึ่งมุ่งเน้นที่อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยโรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กรุงเทพ โรงแรมบัดดี้ โอเรียนทอล ริเวอร์ไซด์ และโรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ โดย บริษัท พัทยา เอวิเอชั่น จำกัด อุตสาหกรรมพัฒนาทักษะและกำลังคน โดย GEDC German Education Center และบริษัทกรุงไทย แอ๊กซ่า ประกันชีวิต จำกัด มหาชน อุตสาหกรรมดิจิทัล โดย บริษัท แบรนด์นิสต้า จำกัด และบริษัท Hisense Broadband (ประเทศไทย) จำกัด และ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดย บริษัท BYD Auto (Thailand) Co., Ltd.

นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาหัวข้อ “การปรับตัวของบัณฑิตและนักศึกษาในการทำงานข้ามวัฒนธรรมในองค์กรจีน” โดยคุณ ZOU YOUFAND และคุณเก่งการณ์ คำตอน จากบริษัท HISENSE Broadband (ประเทศไทย) จำกัด คุณจักรพงษ์ พันแก่น จากบริษัท BYD Auto (Thailand) จำกัด และอาจารย์จุฑามาศ ลิมศุภนาค หัวหน้าหลักสูตรภาษาจีนธุรกิจ วิทยาลัยนานาชาติ กิจกรรมนี้มีนักศึกษาทั้งชาวไทยและชาวจีนที่สนใจทำงานในองค์กรและบริษัทที่ใช้ภาษาจีนในประเทศไทยร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างเข้มข้นและสนุกสนาน

“ความร่วมมือและการสนับสนุนจากสถานประกอบการทุกแห่ง ทั้งในการรับบัณฑิต นักศึกษาสหกิจศึกษา หรือแม้แต่นักศึกษาไปทำงานพิเศษ สำคัญและจำเป็นต่อมหาวิทยาลัยและประเทศไทย เพื่อให้เราสามารถผลิตกำลังคนที่มีทักษะถึงพร้อมที่จะเกื้อหนุนธุรกิจของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานวิชาการกล่าว