การจัดการกับความวิตกกังวลในช่วงการระบาดของ COVID-19
การจัดการกับความวิตกกังวลในช่วงการระบาดของ COVID-19
ดูแลตัวเองในช่วงนี้ และขอส่งกำลังใจให้ บุคลากรทางการแพทย์ที่ พนักงานที่ให้การบริการร้านสะดวกซื้อ พนักงานขนส่ง และพนักงานส่งอาหารด้วยค่ะ
ข้อควรพิจารณาด้านสุขภาพจิต
ความไม่แน่นอนคือจุดเริ่มต้นของความวิตกกังวล และเมื่อเราต้องเผชิญกับสภาวะวิกฤติอย่างไวรัสโคโรนา กับคำถามที่ไร้คำตอบ มันก็สามารถทำให้เรารู้สึก่อนแอหรือหวาดระแวงได้ง่าย
“จะมาถึงแถวบ้านหรือยัง”
“ฉันมีความเสี่ยงแค่ไหนแล้ว ?”
“ฉันเอามาติดคนที่บ้านหรือเปล่า?”
คำถามเหล่านี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ยิ่งเพิ่มทวีคูณความวิตกกังวลยิ่งขึ้นไปอีก
Catherine Belling รองศาสตราจารย์ประจำโรงเรียนแพทย์ Feinberg ของมหาวิทยาลัย Northwestern University ได้ศึกษาบทบาทของความกลัวและความวิตกกังวลในการดูแลสุขภาพ กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับความวิตกกังวลในระดับชาติ (national anxiety) ที่เกิดจากสภาวะที่มีแต่ความไม่แน่นอน หรือที่เรียกว่า Catch-22 ซึ่งอาจจะใกล้เคียงกับสำนวนไทยที่ว่า “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”
ในปัจจุบัน สถานการณ์ Catch-22 นี้ หมายถึงสถานการณ์ที่ยังแก้ไม่ได้ เพราะด้วยกติกาและเงื่อนไขต่าง ๆ มีความขัดแย้งกันเอง ซึ่งในที่นี้ หมายความว่า ยิ่งคุณเครียดมากเท่าไหร่ คุณก็จะยิ่งมีความเสี่ยงต่อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ หรือตัวเจ้า Covid-19 มากขึ้นเท่านั้น เพราะความเครียดนี้เองจะทำให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของคุณลดลง
ลองดูวิธีต่าง ๆ ในการจัดการสุขภาพจิตของเรา และในขณะเดียวกันเราสามารถรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไรได้บ้าง
1. ลองลดเวลาอ่านหรือฟังข่าว ถ้ามันทำให้ตัวคุณเองรู้สึกกังวล หรือไม่เช่นนั้นคุณควรลดเวลารับข้อมูลข่าวสารลงเหลือเพียงวันละ 1 - 2 ครั้ง และควรรับข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญได้กล่าวไว้ว่า “การเสพข่าวมากเกินไปอาจมีผลต่อการผลักดันความกังวลของคุณโดยไม่ได้ตั้งใจ” เพียงคุณทำตามขั้นตอนพื้นฐานของการป้องกันตนเองดังที่กล่าวมาข้างต้น มันก็เพียงพอที่จะทำให้คุณลดความวิตกกังวลลงไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะแม้หากว่าคุณรับข้อมูลข่าวสารทั้งวันทั้งคืน คุณก็ไม่สามารถลดความเสี่ยงให้ลดลงเหลือระดับศูนย์เปอร์เซ็นได้ แต่หากจะกลับทำให้ระดับความเครียดของคุณเพิ่มมากขึ้นไปอีก”
2. เนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้คนในหลายประเทศทั่วโลก เราควรเห็นอกเห็นใจ และเมตตาเขา อย่าไปยึดติดว่าเขาเป็นคนเชื้อชาติหรือสัญชาติอะไร ถ้าเลือกได้ ก็ไม่มีใครที่อยากจะเผชิญกับโรคนี้ พวกเขาสมควรที่จะได้รับการสนับสนุน ความเมตตา และความเห็นอกเห็นใจจากเรา
3. หยุดประณามผู้ป่วยที่ติดโรค CoVID-19 แต่ควรจะใช้คำว่า “ผู้ที่กำลังรับการรักษา” แทน เพราะว่าหลังจากที่พวกเขาหายจากการรับการรักษาจาก COVID-19 พวกเขาก็จะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติกับครอบครัวและคนรอบข้าง สิ่งที่สำคัญก็คือควรหยุดการดูถูกกันเองในสังคม
4. ป้องกันตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยการติดต่อสอบถามกับเพื่อนบ้านหรือผู้คนในชุมชน ที่ดูว่ามีความเสี่ยงหรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษถือว่าเป็นการสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ในการจัดการกับ COVID-19
5. ช่วยกันแบ่งปันข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ให้แก่คนในชุมชน เช่น แบ่งปันประสบการณ์ของผู้ที่หายจาก COVID-19 หรือแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ที่ให้การดูแลคนในครอบครัวระหว่างการรักษาจาก COVID-19
6. ให้ความชื่นชม และให้เกียรติผู้ที่ดำเนินการปฏิบัติงานทั้งในยามฉุกเฉิน เช่นบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลสุขภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 พนักงานที่ให้การบริการ ร้านสะดวกซื้อ พนักงานขนส่ง และพนักงานส่งอาหารเป็นต้น พวกเราควรส่งกำลังใจให้พวกเขารู้ว่า สังคมยอมรับและชื่นชมการทำงานหนักของพวกเขา
7. ให้ความสำคัญกับการนอนหลับให้เพียงพอ จากการศึกษางานวิจัยพบว่าคนที่พักผ่อนหรือนอนหลับอย่างเพียงพอ จะทำให้ต้านไวรัสได้ดีกว่า เช่นตัวอย่างงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก ที่ค้นพบว่า มื่อนักวิจัยฉีดไวรัสหวัดธรรมดาที่ยังมีชีวิตเข้าไปในจมูกของคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดี พบอาการป่วยในผู้ทดลองบางรายเท่านั้น และนักวิจัย Aric Prather ได้อธิบายต่ออีกว่า ผู้ที่นอนหลับน้อยมีแนวโน้มที่จะเป็นหวัดได้ง่ายที่สุด อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ได้ ดังนั้น เราจึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเต็มที่
บทความนี้ดัดแปลงจากข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และเว็บไซต์ NPR
ร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤต COVID-19
ขอให้ทุกท่านปลอดภัย ห่างไกลโควิด-19
ด้วยความห่วงใย
#อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
#DPUSAO
#DPU
#สายงานกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
#ไวรัสCOVID19