มธบ. รณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อค

          อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการโดยสาร หรือขับขี่รถจักรยานยนต์บนท้องถนนในบ้านเรายังเป็นสถิติที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตมากเป็นลำดับต้นๆ และที่น่าตกใจไปกว่านั้นคือ มีรายงานว่า 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งหมายถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนที่อยู่ข้างหลังที่ต้องสูญเสียเสาหลักของครอบครัวไป
          มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จึงขอรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย ลดอุบัติเหตุและการสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ต้องสวมหมวกกันน็อคอย่างถูกวิธี ปัจจุบันมีหมวกนิรภัย 3 ประเภทตามที่กฎหมายระบุ 3 ประเภท ได้แก่
          1. "หมวกนิรภัยแบบ ครึ่งใบ" คือ หมวกนิรภัยที่เปลือกหมวกเป็นรูป ครึ่งทรงกลมปิดด้านข้าง และด้านหลังเสมอระดับหู
          2. "หมวกนิรภัยแบบปิดเต็มหน้า" คือ หมวกนิรภัยที่เปลือกหมวก เป็นรูปทรงกลมปิดด้านข้าง ด้านหลัง ขากรรไกร และคาง
          3. "หมวกนิรภัยแบบเต็มใบ" คือ หมวกนิรภัยที่เปลือกหมวกเป็นรูปทรงกลม ปิดด้านข้าง และด้านหลังเสมอแนวขากรรไกร และต้นคอด้านหลัง ด้านหน้าเปิด เหนือคิ้ว
          ที่สำคัญคือ หมวกนิรภัยหรือหมวกกันน็อคที่วางจำหน่ายอยู่นั้นมีมากมายหลายแบบ แต่ผู้ขับขี่ควรจะต้องเลือกหมวกที่มีการผลิตที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ หมวกที่ดี ก็จะสามารถป้องกันการกระทบกระเทือนของศีรษะได้ โดยหมวกที่จะปลอดภัยจะต้องมีการบุโฟมกันกระแทกด้านใน วัสดุทำจาก abs หรือ acrylicnitrite butadiene styrene ไม่ใช่แค่พลาสติกธรรมดา ในขณะเดียวกัน ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จำเป็นต้องแต่งกายให้เหมาะสม ถูกต้องและรัดกุม เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงหนากว่าปกติ สวมรองเท้าหุ้มนิ้วเท้า ข้อเท้า เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ เช่น ล้มเล็กๆ น้อยๆ การสวมเสื้อผ้าที่มิดชิดก็ช่วยลดอาการบาดเจ็บได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

การติดต่อ

สายงานกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ชั้น 3 อาคารเอนกประสงค์และลานจอดรถ
110/1-4 ถนนประชาชื่น หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทรศัพท์ : 02 954 7300 ต่อ 200