ที่ดิน ชนบท และเมืองในรอบ 50 ปี
.png)
บทคัดย่อ
ที่ดินในฐานะที่เป็นปัจจัยการผลิต มีลักษณะพิเศษทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สำหรับประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลิตผลของประวัติศาสตร์และสภาวะที่ประเทศมีที่ดินมาก นโยบายที่ดินของรัฐซึ่งรวมศูนย์ที่ส่วนกลางสะท้อนดุลยภาพทางสังคมที่เน้นการเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากที่ดินและการใช้สิทธิในที่ดินทั้งในรูปกรรมสิทธิการครอบครองแก่ราษฎรหรือประชาชนที่ค่อนข้างเสรี โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการส่งออกเป็นหลักส่งผลต่อการทำลายรากฐานของทรัพยากร ป่าไม้ และสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ให้เป้าหมายทางสังคม ความเป็นธรรม การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มบุคคล ระหว่างเมืองและชนบทเป็นเรื่องรอง ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่มีการกระจุกตัวและไม่สมมาตร หลักนิติรัฐหรือการบังคับใช้กฏหมายอ่อนแอ มีการใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนตนอย่างไม่มียางอาย ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินและการเข้าถึงที่ดินของรัฐโดยมิชอบด้วยกฏหมาย ที่ผ่านมาการใช้ที่ดิน แรงงาน เทคโนโลยีของไทยภายใต้การเพิ่มขึ้นของประชากร แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมสามารถเอาชนะกับดัก Malthusian มาได้ตลอดโดยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผลผลิตรวมผลผลิตเกษตรสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร และการใช้ที่ดินของเราได้ทำให้เราสามารถมีความได้เปรียบระหว่างประเทศในด้านอาหารและสินค้าเกษตร ในระดับมหภาค บทบาทของที่ดินในที่มาของความเจริญเติบโตโดยรวมและในภาคเกษตรลดลงตลอดเมื่อเทียบกับปัจจัยอื่น ๆ แม้การมีหรือการเข้าถึงที่ดินในชนบทหรือในภาคเกษตรมีความสำคัญแต่คุณภาพของที่ดินและน้ำกำหนดชะตากรรมของคนในภาคเกษตร เห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ว่า ผลผลิตการเกษตรที่เพิ่มขึ้นนั้นร้อยละ 67 มาจากปัจจัยการผลิต โดยที่เพียงร้อยละ 4.5 มาจากที่ดินที่ต้องพึ่งน้ำฝน ภายใต้สภาวะขีดจำกัดของการเพิ่มขึ้นของที่ดิน ซึ่งจริง ๆ แล้วอุปทานของที่ดินโดยรวมมิได้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของภาคเกษตร ชนบทไทยซึ่งคลุมขอบเขตมากกว่าการเกษตรปรับตัวหารายได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากนอกภาคเกษตรผ่านการอพยพย้ายถิ่น ซึ่งยังมีลักษณะไม่ถาวร ในอดีตคนจากชนบทจึงเป็นทั้งคนเมืองและคนชนบท วาระสำคัญในเรื่องนโยบายที่ดินในอนาคตของประเทศไทย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการใช้ประสิทธิภาพของที่ดินมากกว่าที่เป็นมาในอดีต เร่งรัดให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ การออกโฉนดทั้งประเทศขจัดโครงสร้างภาษีทรัพย์สินที่มีลักษณะถดถอย คนรวยเสียภาษีน้อยลงและให้มีความเป็นธรรมระหว่างชนบทและเมืองมากขึ้น เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับรัฐบาลท้องถิ่น จัดการทรัพยากรทุกชนิดไม่ใช่เฉพาะที่ดินอย่างเป็นบูรณาการ โดยคำนึงถึงความสำคัญของพหุลักษณ์ในสิทธิ ตั้งแต่สิทธิของรัฐ สิทธิของชุมชน และสิทธิของปัจเจก ที่แต่ละเรื่องของการบริหารทรัพยากร อาจกำหนดรูปแบบของสิทธิที่ต่างกัน
Abstract
นักวิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ และ ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นาย กองเงิน สุทธิพิทักษ์
สังกัด : คณะเศรษฐศาสตร์
คำสำคัญของโครงการ :
ปีที่เสร็จ : 2548