การพัฒนาแนวทางส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาแนวทางส่งเสริมนวัตกรรมแบบเปิดในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย” มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการได้แก่ 1) เพื่อศึกษาอุปสรรคหรือข้อจํากัดในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย 2) เพื่อศึกษาแนวทางในการนำแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดมาใช้ในการลดอุปสรรคหรือข้อจํากัดในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย และ3) เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางส่งเสริมการนำแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดในกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
การศึกษาครั้งนี้เป็นงานวิจัยแบบผสมผสานทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ (Mixed Methods Research) ซึ่งการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพในช่วงแรกช่วยให้ผู้วิจัยทราบถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดในประเทศไทย รวมถึงให้ได้ข้อมูลเพื่อไปปรับปรุงแบบสอบถามที่พัฒนาขึ้นมาจากการทบทวนวรรณกรรมและจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากนั้นเป็นการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณด้วยแบบสอบถามจากบริษัทที่ได้มีการลงทะเบียนกับทางเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทยและสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย จำนวนทั้งสิ้น 314 บริษัท ส่วนในขั้นตอนสุดท้ายผู้วิจัยได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลเชิงปริมาณและเพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางส่งเสริมกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนการนำแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดมาใช้ในกระบวนการดังกล่าว
จากสภาวะการแข่งขันในปัจจุบันที่ผลักดันให้องค์กรจำเป็นต้องมีการนำนวัตกรรมเข้ามาเป็นเครื่องมืองเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ และพยายามกระตุ้นส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมภายในองค์กรอย่างต่อเนื่องนั้น จำนวนไม่น้อยพบว่าความพยายามดังกล่าวยังมีปัญหาหลายประการซึ่งผลการวิจัยในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่าอุปสรรคหรือข้อจำกัดสำคัญของสถานประกอบการซอฟต์แวร์ซึ่งส่วนใหญ่เป็น SMEs ได้แก่ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเข้าทำงานในองค์กร ปัญหาการขาดข้อมูลเกี่ยวกับตลาดในการวางแผนตัดสินใจ ปัญหาเกี่ยวกับกฎหมายหรือข้อบังคับอันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม อาทิ ประเด็นทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงปัญหาการขาดแคลนเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมทางด้านนวัตกรรม
อย่างไรก็ดี ผลจากการเก็บรวบรวมข้อมูลในงานวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพชี้ให้เห็นว่าสถานประกอบการซอฟต์แวร์ในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการรับแนวความคิดนวัตกรรมแบบเปิดมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะในรูปแบบของการเปิดรับองค์ความรู้จากภายนอกซึ่งช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนในการสร้างสรรค์นวัตกรรมขององค์กรลง เนื่องจากองค์กรไม่จำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมตั้งแต่การวิจัยและพัฒนาไปจนถึงการนำนวัตกรรมออกสู่ตลาดด้วยตนเองทั้งหมด อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ รวมถึงข้อมูลด้านการตลาดเนื่องจากองค์กรสามารถเปิดรับความรู้ที่ต้องการจากแหล่งต่างๆ ภายนอกในการพัฒนาสินค้าหรือบริการขององค์กร
ซึ่งจากข้อมูลงานวิจัยนี้ ผู้วิจัยได้เสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดไว้ 3 แนวทางได้แก่การแสดงบทบาทของภาครัฐในฐานะเป็นตัวกลางสำคัญในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานของกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม การสร้างการตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของนวัตกรรมแบบเปิดให้เกิดขึ้นในสถานประกอบการภาคเอกชน และการสนับสนุนส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวคิดนวัตกรรมแบบเปิดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
Abstract
This research entitled “The Development of Guidelines for Promoting Open Innovation in the Innovation Process of Software Industry in Thailand” has three main objectives. First, it aims to examine the obstacles or limitations of innovation process of firms in software industry in Thailand. Second, it aims to study the guidelines to adopt open innovation to reduce obstacles or limitations of the firms’ innovation process. Third, it aims to investigate the current status of innovation development of firms in the software industry in Thailand and the way to promote open innovation in such context.
This mixed methods research divided data collection strategy into three phases. In the first phase, an in-depth interview was employed to realize the current status of the software industry and open innovation in Thailand. It was also a great input to improve the questionnaire developed from the related research and the literature review for data collection over the next phase. In the second phase, the survey was employed to collect quantitative data from 314 companies registered with Software Park and The Association of Thai Software Industry (ATSI). Finally, in the third phase, an in-depth interview was done to gain a better understanding of findings from the survey and to gain an insight into the guidelines to promote innovation process as well as to support the application of open innovation in such a process.
Driven by fierce competition, innovation now becomes the firms’ strategic tool and business organizations are trying to foster innovation within their companies. However, many of them found their efforts are still problematic. The findings revealed that the most important obstacles for software firms’ innovation process are the lack of qualified personnel, the lack of market information, the lack of laws or regulation as well as the lack of funds to support innovation activities.
However, the findings from both quantitative and qualitative methods showed that software firms in Thailand have adopted open innovation for business operations especially “inbound open innovation” that helps reduce both time and costs for innovation development. This is because the firms do not have to conduct all innovation activities from R&D to commercialization by themselves. Moreover, open innovation also helps reduce the lack of qualified personnel and information on markets because firms can gain required knowledge from various external sources for the development of new products or services.
Based on the findings, the researcher suggests three major guidelines for promoting open innovation in the software industry in Thailand: the roles of the government as a center to solve fundamental problems in innovation processes, the awareness of benefits from adopting open innovation by private sectors, and the intensive and continuous support for the use of open innovation in private sectors.
นักวิจัย : ดร.อดิศร ณ อุบล
สังกัด : คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
คำสำคัญของโครงการ :
กระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม อุปสรรค นวัตกรรมแบบเปิด อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ปีที่เสร็จ : 2559