ความแตกต่างของรูปแบบการหยุดเว้นระยะในการอ่านภาษาอังกฤษของเจ้าของ ภาษาและผู้เรียนไทย
.png)
บทคัดย่อ
การวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าการหยุดเว้นระยะมีความสำคัญต่อการสื่อสารด้วยวาจา เนื่องจากการหยุดเว้นระยะทำให้การสื่อสารของผู้พูดเป็นที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น และยังช่วยพัฒนาความสามารถในการฟังภาษาของผู้เรียนภาษาให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้นด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าการสอนการหยุดเว้นระยะอย่างถูกต้องนั้นได้รับความสนใจในการนำไปสอนในชั้นเรียนน้อยมาก จึงทำให้นักเรียนไทยจำนวนมากไม่สามารถแบ่งกลุ่มคำเพื่อการหยุดเว้นระยะได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้เรียนออกเสียงไม่เป็นธรรมชาติหรือบางครั้งยังอาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการสื่อสารอีกด้วย งานวิจัยเรื่องนี้จึงมุ่งที่จะศึกษารูปแบบการหยุดเว้นระยะจากการอ่านออกเสียงของผู้เรียนไทยโดยเปรียบเทียบกับรูปแบบการหยุดของเจ้าของภาษา กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยผู้เรียนไทยจำนวน 30 คน ซึ่งถูกจำแนกออกเป็น 2 กลุ่มตามความสามารถทางภาษาอังกฤษเป็นกลุ่มที่มีความสามารถระดับสูงและระดับต่ำ และกลุ่มเจ้าของภาษา 1 กลุ่ม จำนวน 7 คน โดยผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมดได้บันทึกเสียงการอ่านนิทานอิสป ที่ใช้เป็นแบบทดสอบจำนวน 1 เรื่องในห้องปฏิบัติการทางภาษา จากนั้นจึงวิเคราะห์เสียงที่บันทึกไว้โดยใช้การฟังร่วมไปกับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อหาตำแหน่งการหยุดและวัดค่าระยะเวลาการหยุดในแต่ละตำแหน่ง
ผลการวิจัยพบว่า เจ้าของภาษาหยุดเว้นระยะพร้อมเพรียงกันที่ตำแหน่งระหว่างประโยคและระหว่างอนุประโยคหลัก แต่ได้พบความแตกต่างของรูปแบบการหยุดเป็นรายบุคคลเกิดขึ้นในตำแหน่งระหว่างข้อความที่มีความสัมพันธ์ทางไวยากรณ์ระดับรองลงไป ในกลุ่มผู้เรียนไทยพบว่า กลุ่มที่มีความสามารถทางภาษาระดับต่ำกว่ามีการหยุดเว้นระยะมากครั้งกว่าและหน่วยระหว่างช่วงการหยุดมีจำนวนคำน้อยกว่ากลุ่มที่มีความสามารถทางภาษาระดับสูง ซึ่งในกลุ่มนี้นอกจากหน่วยระหว่างช่วงหยุดจะมีจำนวนคำมากกว่าแล้ว คำในหน่วยหยุดยังแสดงความสัมพันธ์เชิงไวยากรณ์และอรรถศาสตร์ได้ชัดเจนมากกว่าด้วย การหยุดที่น้อยครั้งกว่าของกลุ่มความสามารถทางภาษาสูงกว่านี้ทำให้รู้สึกถึงการสื่อสารที่ราบรื่นมากกว่า ซึ่งผลการวิจัยครั้งนี้สอดคล้องกับการวิจัยในอดีตที่แสดงให้เห็นว่าการหยุดมีความสัมพันธ์กับหน้าที่ทางไวยากรณ์เป็นอย่างมาก และเนื่องจากการหยุดเว้นระยะอย่างถูกต้องจะช่วยพัฒนาการพูดของผู้เรียนให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่ายขึ้น การวิจัยนี้จึงมุ่งหวังที่จะเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการนำกิจกรรมการอ่านออกเสียงภาษาอังกฤษมาใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในชั้นเรียนอย่างสม่ำเสมอต่อไป
Abstract
Research suggests that pauses are essential in oral communication in that they render intelligibility and contribute to the improvement of speech comprehension. Unfortunately, the teaching of correct pausing has received little attention in EFL classes. As a result, many Thai learners of English tend to use inappropriate phrasing and pausing, which makes their speech sound unnatural or even hinders communication. This study investigated Thai learners’ pause patterns in read speech in comparison with those produced by native English speakers. Participants included 30 undergraduate students, classified into the high- and low-proficiency groups based on their English proficiency test scores. Seven native English-speaking teachers represented NS controls. The participants read an Aesop fable and recorded their speech in a laboratory. Individual recordings were analyzed by means of auditory and acoustic analyses to identify pause locations and measure pause durations.
The results reveal that native speakers paused exclusively at sentence ends. Additional pauses were made at major syntactic boundaries. Inter-speaker variability existed at minor syntactic boundaries. Among Thai learners, the low group paused more frequently and produced shorter lengths of pause-defined units (PDU) than the high group, who read with longer and more syntactically and semantically unified PDUs. The high group also paused less, which gave the impression of faster and more fluent speech. The findings support previous studies that pausing is, to a large extent, affected by syntactic structures. Since correct use of pauses can make a marked improvement of intelligibility in speech production, the pedagogical implication offered from the findings is to support the importance of introducing read-aloud tasks in EFL classes.
นักวิจัย : ดร.สร้อยศิธร อิศรางกูร ณ อยุธยา
สังกัด : คณะศิลปศาสตร์
คำสำคัญของโครงการ :
การหยุดเว้นระยะ หน่วยระหว่างช่วงหยุด
ปีที่เสร็จ : 2556