มโนทัศน์เรื่องกาลและการณ์ลักษณะในภาษาอังกฤษของผู้เรียนไทย
.png)
บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบระดับความใกล้เคียงในเชิงมโนทัศน์เรื่องกาลและการณ์ลักษณะในภาษาอังกฤษของผู้เรียนภาษาอังกฤษชาวไทยกับเจ้าของภาษา กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยกลุ่มเจ้าของภาษา 1 กลุ่ม จำนวน 15 คนและกลุ่มผู้เรียนไทย 3 กลุ่มซึ่งจำแนกตามความสามารถทางภาษาอังกฤษเป็นกลุ่มที่มีความสามารถระดับสูง กลาง และต่ำ จำนวนกลุ่มละ 33 คน รวมทั้งสิ้น 99 คน ผู้เข้าร่วมการวิจัยทั้งหมดอ่านบทความที่ใช้เป็นแบบทดสอบและตอบแบบสอบถามโดยการเลือกตัวเลือกที่ให้ความหมายของกาลและการณ์ลักษณะในภาษาอังกฤษซึ่งสอดคล้องกับมโนทัศน์ของตนมากที่สุด ตามบริบทซึ่งอยู่ในบทความที่ได้อ่าน
ผลการวิจัยพบว่า ระดับความใกล้เคียงของมโนทัศน์เรื่องกาลและการณ์ลักษณะในภาษาอังกฤษระหว่างผู้เรียนไทยกับเจ้าของภาษา มีความสัมพันธ์กับความสามารถทางภาษาอังกฤษของผู้เรียน กล่าวคือผู้เรียนที่มีความสามารถทางภาษาระดับสูงมีมโนทัศน์เรื่องกาลและการณ์ลักษณะใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากที่สุด ส่วนผู้เรียนที่มีความสามารถทางภาษาระดับต่ำมีมโนทัศน์แตกต่างจากเจ้าของภาษามากที่สุด กล่าวโดยรวมผู้เรียนไทยมีมโนทัศน์เรื่องการบอกเวลาปัจจุบันด้วยรูปกาลpresent simple และprogressive ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากเป็นสองอันดับแรก ตามด้วยรูปกาล past simple ซึ่งแสดงเวลาในอดีตสำหรับกาลใน past perfect progressiveนับว่าเข้าใจได้ยากที่สุดในกลุ่มผู้เรียนไทยทุกกลุ่ม ส่วนมโนทัศน์เรื่องการณ์ลักษณะในภาษาอังกฤษนั้นพบว่า มีความแตกต่างกันทั้งในระดับกลุ่มและระหว่างกลุ่มของผู้เรียนไทยมากกว่าการบอกเวลา จึงทำให้อนุมานได้ว่าปัญหาของผู้เรียนไทยในการเรียนรู้รูปกาลในภาษาอังกฤษเกิดจากความเข้าใจการณ์ลักษณะมากกว่าเรื่องเวลาอ้างอิงของเหตุการณ์ ทั้งนี้พบว่าการณ์ลักษณะของรูปกาลที่เข้าใจได้ยากที่สุดคือ past perfect progressiveนอกจากนี้ผลของการวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าบริบทและความหมายของกริยาเป็นปัจจัยหลักต่อมโนทัศน์เรื่องกาลและการณ์ลักษณะในภาษาอังกฤษ
Abstract
This study investigated proximity in conceptualizations of tense and aspect in English between native English speakers (NSs) and Thai learners of English at three proficiency levels—high, intermediate, and low—referred to as non-native speakers of English (NNSs). The participants, consisting of 15 NSs and 99 NNSs, were asked to read a text and respond to a questionnaire by choosing the meanings of time references and aspectual properties of eight forms of tense and aspect markers from multiple-choice selections. The results showed an increase in the degree of proximity to NSs’ norms as NNSs’ proficiency levels increased across groups. The present time reference of the present tense with simple and progressive aspects represented the most accessible deictic time spans for all groups, followed by the past tense with the simple aspect. The past time reference with the perfect progressive aspect appeared to have been the most difficult to conceptualize for NNSs. With regard to conceptualizations of aspectual properties, within-group and across-group variations were greater, suggesting that aspect is more persistently problematic than time reference. Again, aspectual property of the perfect progressive in the past tense was the most difficult to access for NNSs. The results further suggested that discourse context and the semantic meaning of verb play a crucial role in the conceptualizations of tense and aspect.
นักวิจัย : ผศ.ดร.สร้อยศิธร อิศรางกูร ณ อยุธยา
สังกัด : คณะศิลปศาสตร์
คำสำคัญของโครงการ :
เวลา การณ์ลักษณะ และรูปกาล
ปีที่เสร็จ : 2554