ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการสื่อสารเพื่อกำหนดภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนศึกษาเฉพาะชุมชนรอบเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช

บทคัดย่อ

ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการสื่อสารเพื่อกำหนดภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน ศึกษาเฉพาะชุมชนรอบเขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการสื่อสารการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศรอบเขาหลวง และภาพลักษณ์ที่พึงปรารถนาในทัศนะของชุมชนรอบเขาหลวง ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพลักษณะสหวิทยาการ เพื่อการตีความและอธิบายปรากฏการณ์อย่างเข้มข้น เพื่อให้เห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วม การวิเคราะห์ SWOT และใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง 52 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของชุมชนรอบเขาหลวงที่ปรากฏมี 4 ประการ คือ ด้านพื้นที่ท่องเที่ยว ชุมชนส่วนใหญ่มีแนวปฏิบัติต่อพื้นที่ท่องเที่ยว บนพื้นฐานของการ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการจัดการท่องเที่ยว มีลักษณะการดำเนินงานในรูปแบบขององค์กรชาวบ้าน มีวัตถุ- ประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมการอนุรักษ์และการหาแนวทางความร่วมมือในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน ด้านกิจกรรมการท่องเที่ยวเน้นให้นักท่องเที่ยว ได้มีประสบการณ์ตรงกับธรรมชาติบน พื้นที่ในแหล่งธรรมชาติ ขณะเดียวกันคนในชุมชนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการจัดการท่องเที่ยวและระบบนิเวศในท้องถิ่น สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และเรียนรู้ร่วมกับนักท่องเที่ยวได้อย่างเหมาะสม ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน มี 2 รูปแบบ คือ การมีส่วนร่วมโดยตรง และการมีส่วนร่วม โดยอ้อมกับกิจกรรมการท่องเที่ยวในชุมชน 2. ยุทธวิธีการสื่อสารของชุมชนรอบเขาหลวงที่ปรากฏในการจัดการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ คือ การสื่อสารแบบมีส่วนร่วม 3 รูปแบบ คือ การมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล การมีส่วนร่วมในการรับฟังความคิดเห็น และ การมีส่วนร่วมแบบปรึกษาหารือ มีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว และสองทางกระทำ ในสถานการณ์ที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การนำเสนอสารมีทั้งแนวทางเชิงลบและแนวทางเชิงบวก โดยยุทธวิธีดังกล่าวนี้ ชุมชนได้ใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อนำไปสู่การกำหนดภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่ชุมชนปรารถนาจะให้เกิดขึ้นในอนาคต 3. ในอนาคตการท่องเที่ยวเชิงนิเวศรอบเขาหลวง จะเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนใน 4 บริบท คือ บริบทด้านพื้นที่แหล่งทรัพยากรที่หลากหลาย คือจะมีการผสมผสานเรื่องการอนุรักษ์ ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรม โดยมีจุดมุ่งหมายให้ชุมชนมีสำนึกและความภูมิใจในความเป็นชุมชนของตน บริบทด้านการจัดการ จะเป็นการท่องเที่ยวบนเงื่อนไขที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และอนุรักษ์ทรัพยากร โดยจะเน้นความสำคัญระหว่างชุมชนและธรรมชาติในฐานะเป็นวิถีชีวิตที่เกื้อกูลในระบบนิเวศเดียวกัน บริบทด้านกิจกรรม จะมีการสร้างระบบการท่องเที่ยวที่เอื้อต่อการเรียนรู้และสร้างเป็น เครือข่ายการจัดการทรัพยากร เช่นจัดเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวร่วมกัน เพื่อเพิ่มพูนความรู้ประสบการณ์ และปลุกจิตสำนึกที่ถูกต้องต่อนักท่องเที่ยวและประชาชนในท้องถิ่น บริบทด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน จะเป็นการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับการมีส่วน ร่วมของชุมชนตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการท่องเที่ยว เพื่อประโยชน์ต่อท้องถิ่นอย่างแท้จริง

Abstract