การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ของนักศึกษาที่เรียนผ่าน E – Learning กับผลการเรียนรู้ของนักศึกษาที่เรียนตามปกติในวิชาการควบคุมและการตรวจสอบภายใน
.png)
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง การเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ของนักศึกษาที่เรียนผ่าน E – Learning กับผลการเรียนรู้ของนักศึกษาที่เรียนตามปกติในวิชาการควบคุมและการตรวจสอบภายใน เป็นการวิจัยเชิงประยุกต์เกี่ยวกับการวิจัยในชั้นเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเชิงเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ในวิชาการควบคุมและการตรวจสอบภายในระหว่างระบบการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กับวิธีการเรียนรู้แบบปกติ สำหรับกลุ่มนักศึกษาที่มีผลการเรียนในระดับเดียวกันและเพื่อสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาคณะการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนโดยผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตร 4 ปี ชั้นปีที่ 2 เฉพาะที่ลงทะเบียนเรียนวิชาการควบคุมและการตรวจสอบภายใน สำหรับภาคเรียนที่ 2/2552 ผลการวิจัยพอสรุปได้ดังนี้
1. ผลการเรียนเปรียบเทียบระหว่างนักศึกษากลุ่มปกติ และกลุ่ม E-Learning ของวิชาบังคับ 2 วิชา คือ การบัญชีขั้นต้น(AC 361) และวิชาองค์การและการจัดการ (GM 201) พบว่า นักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างและเรียนวิชาบังคับ คือ วิชา การบัญชีขั้นต้น และวิชาองค์การและการจัดการ มีเกรดเฉลี่ยสะสมโดยรวมของกลุ่มปกติ และกลุ่ม E-Learning ใกล้เคียงกัน คือ 2.71 และ 2.69 ตามลำดับ
2. ผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างนักศึกษากลุ่มปกติ และกลุ่ม E-Learning พบว่า นักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่เรียนวิชาAC311 มีคะแนนเฉลี่ยโดยรวมของกลุ่มปกติ และกลุ่ม E-Learning คือ 68.85 และ 72.85 ตามลำดับ แสดงว่า นักศึกษาที่เรียนผ่านระบบเครือข่ายอิเลคทรอนิคส์ (E-Learning) มีผลการเรียนที่ดีกว่าการเรียนแบบปกติ
3. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลผลการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างนักศึกษากลุ่มปกติ และกลุ่ม E-Learning พบว่า นักศึกษาที่เรียนวิชา AC 311 ในกลุ่ม E-Learning มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างจากนักศึกษาที่เรียนแบบปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
4. นักศึกษาให้ความคิดเห็นต่อรูปแบบการเรียนการสอนแบบ E-Learning : Moodle ในด้านเทคนิคการออกแบบ Website เพื่อการเรียน E-Learning : Moodle และด้านการประเมินผลการเรียน อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนด้านการออกแบบเนื้อหาหลักสูตร ด้านเนื้อหาวิชาที่ใช้ในการเรียนการสอน ด้านการปฏิสัมพันธ์ในการเรียน และด้านประโยชน์ที่ท่านได้รับจากการเรียน E-Learning : Moodle อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาค่าเฉลี่ยรวมทั้ง 6 ด้าน พบว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นต่อรูปแบบการเรียนการสอนแบบ E-Learning : Moodle อยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.12 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.41
Abstract
นักวิจัย : อาจารย์ นงนิภา ตุลยานนท์
สังกัด : คณะการบัญชี
คำสำคัญของโครงการ :
ปีที่เสร็จ : 2553