เครือข่ายการสื่อสารเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กรณีศึกษา “ลำน้ำน้อย” อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

บทคัดย่อ

การวิจัยเรื่อง เครือข่ายการสื่อสารเพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กรณีศึกษา “ลำน้ำน้อย” อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการวิจัยเชิงสหวิทยาการ ผสมผสานรูปแบบการวิจัยทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเลือกชุมชนที่จะศึกษาสี่แห่ง ได้แก่ เทศบาลตำบลผักไห่ เทศบาลตำบลลาดชะโด องค์การบริหารส่วนตำบลหน้าโคก และองค์การบริหารส่วนตำบลลาดชิด ทั้งสี่แห่ง ตั้งอยู่ริมน้ำน้อยและเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยวและมีกิจกรรมเกี่ยวเนื่อง อาทิ. วัฒนธรรม ประเพณี การละเล่น หัตถกรรมพื้นบ้าน ดนตรี และอาหารพื้นบ้าน การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ (1.) สังเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงของอำเภอผักไห่จากอดีตถึงปัจจุบัน (2.) วิเคราะห์เครือข่ายการสื่อสารเพื่อพัฒนาอำเภอผักไห่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (3.) ประเมินสภาพความพร้อม โดยวัดจากตัวชี้วัด 4 อย่าง คือ สมาชิกในชุมชนให้ความร่วมมือ มีท่าเทียบเรือ มีแหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน และมีที่ค้างแรมในหมู่บ้าน หรือ โฮมสเตย์
ผลการวิจัย พบว่า อำเภอผักไห่ตั้งอยู่ริมน้ำน้อยเป็นชุมชนเก่าแก่ครั้งสมัยละโว้ มีอดีตที่น่าภาคภูมิใจ กล่าวคือพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จประพาสต้นถึงสองครั้ง ทรงบันทึกในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้น โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ(พ.ศ.2447) และบันทึกในราชหัตถเลขาของพระพุทธเจ้าหลวง(พ.ศ.2451) ถึงความเจริญของชุมชนบ้านปากไห่ ในการเสด็จทั้งสองคราวทรงประทับแรมที่บ้านหลวงวารีโยธารักษ์ (บ้านตึก) ซึ่งเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอผักไห่ ปัจจุบัน รกร้างเหลือเพียงหอนั่งริมน้ำ นอกจากผักไห่จะเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรม ประเพณี และโบราณสถานที่ล้ำค่าแล้ว ยังมีลำน้ำน้อยเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ อุดมด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร และสัตว์น้ำนานาชนิด ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “จะจับกุ้งต้องแหวกปลา” ต่อมามีการสร้างเขื่อนชลประทาน โบราณสถานหลายแห่งเหลือเพียงซาก เนื่องจากประชากรวัยทำงานทิ้งถิ่นเหลือแต่เด็กและคนชรา อย่างไรก็ตาม ผักไห่ยังคงมีทุนทางวัฒนธรรม และทุนทางธรรมชาติที่ทรงคุณค่าเหลือไว้ให้ลูกหลาน น่าที่จะรื้อฟื้นให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
สำหรับ เครือข่ายการสื่อสารเพื่อพัฒนา “ลำน้ำน้อย” ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้แบ่งประชากรออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1.) กลุ่มข้าราชการประจำ โดยมีนายอำเภอ ถือเป็นสื่อบุคคลที่มีความสำคัญ สามารถบูรณาการคุณสมบัติ 4 ประการได้แก่ นักพัฒนา นักประสาน ผู้ชี้แนะ และผู้ดูแล สำหรับการสื่อสารระหว่างสมาชิกภายในกลุ่มข้าราชการประจำ ใช้เครือข่ายการสื่อสารแบบครบวงจร และใช้ช่องทางการไหลของข่าวสารทั้งแบบทางการและแบบไม่เป็นทางการ ส่วนการสื่อสารระหว่างกลุ่ม (กับข้าราชการส่วนท้องถิ่น) ใช้เครือข่ายการสื่อสารทั้งแบบเป็นทางการด้วยสื่อเฉพาะกิจ ได้แก่ เอกสารราชการ การสั่งการ การประชุม เป็นต้น และการสื่อสารแบบไม่เป็นทางการด้วยการสื่อสารระหว่างบุคคล ได้แก่ การพูดคุยสนทนาตามงานเลี้ยงต่างๆ การสัมมนากึ่งพักผ่อนนอกสถานที่ การแลกเปลี่ยนดูงาน เป็นต้น (2.) ผู้นำชุมชน พบว่า นายกอบต. หน้าโคกรับทราบข่าวสารและนำไปเผยแพร่แก่สมาชิกโดยผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายมากที่สุดและ กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งตอบว่าไม่เคยได้รับทราบข่าวสารเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ส่วนผู้ที่ได้รับทราบข่าวสารแล้วเกิดความรู้/ความเข้าใจจากสื่อบุคคลมากที่สุด รองลงมาเสียงตามสาย และเอกสารราชการ ตามลำดับ และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ต้องการรับทราบข่าวสารเพิ่มเติม โดยผ่านเสียงตามสายมากที่สุด รองมา สื่อบุคคล และเอกสารราชการตามลำดับ (3) กลุ่มแม่บ้านและผู้ประกอบการ พบว่า ชุมชนที่มีความพร้อมมากที่สุดได้แก่ ชุมชนศรีวิเชียร ในตำบลหน้าโคก เพราะมีกลุ่มผู้นำสตรีที่เข้มแข็ง อีกทั้งมีเครือญาติมี่มีธุรกิจที่มั่งคงรองรับอยู่ สำหรับความพร้อมของชุมชน ในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พบว่ากลุ่มตัวอย่างของ อบต. หน้าโคกมีความเป็นไปได้มากที่สุดเพราะมีพื้นฐานการรวมตัวเรื่องอาชีพ (ศูนย์การเรียนรู้สตรีศรีวิเชียร) รองลงมาอบต. ลาดชิดมีพื้นฐานการรวมตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม
ด้านข้อเสนอแนะ หากต้องการพัฒนาอำเภอผักไห่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม ควรมีการบริหารจัดการ ดังนี้ (1.) ต้องมีการจัดตั้งองค์กรท่องเที่ยวที่เกิดจากการรวมตัวของภาครัฐ/เอกชน เพื่อร่วมรับผิดชอบ โดยใช้เครือข่ายการสื่อสารแบบครบวงจรทั้งแบบเป็นทางการ และแบบไม่เป็นทางการเพื่อให้สมาชิกได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน (2.) สำหรับการสื่อสารกับสมาชิกในแต่ละชุมชน นอกจากต้องอาสัยสื่อบุคคลแล้วควรใช้ประโยชน์จากเสียงตามสายมากขึ้นด้วย (3.) ควรมีการสร้างเครือข่ายการสื่อสารระหว่างชุมชน (ทั้งภายใน/ภายนอกอำเภอ) เพื่อแลกเปลี่ยนดูงานระหว่างกัน (4.) ควรมีการพัฒนาเว็บไซต์ท่องเที่ยวสำหรับชุมชนที่มีความพร้อม ได้แก่ อบต.หน้าโคก และอบต.ลาดชิด โดยสรุปจากการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป การลงตรวจสอบสภาพพื้นที่ รวมถึงการสังเคราะห์ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง มีความเห็นว่าสามารถพัฒนา "ลำน้ำน้อย" ในพื้นที่อำเภอผักไห่ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อย่างแน่นอน

 

Abstract