ความเหลื่อมล้ำของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาในสังคมเมืองและสังคมชนบท ภายใต้โครงการวิจัย “สังคมชนบทสู่สังคมเมือง : พลวัตสู่ทศวรรษหน้า”
บทคัดย่อ
กฎหมายอาญาและกระบวนยุติธรรมทางอาญา เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อสังคม
อย่างยิ่ง ที่ผ่านมาในตัวบทกฎหมายไม่ว่าในส่วนของสารบัญญัติหรือวิธีสบัญญัติ มีหลักกฎหมายและเนื้อหาให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้เป็นผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิดและสังคมเป็นอย่างดี ในส่วนการบริการประชาชนในประเทศด้านงานยุติธรรม รัฐได้จัดตั้งศาลชั้นต้นซี่งเป็นศาลที่มีการนั่งพิจารณาคดีหรือสืบพยาน เพื่อบริการประชาชนเป็นจำนวนมากทั้งในกรุงเทพมหานครและในทุกจังหวัด ภายใต้รัฐธรรมนูญประชาชนควรจะได้รับการบริการที่เท่าเทียมกัน ในสังคมเมืองและสังคมชนบท แต่ปรากฎว่าในส่วนการบริหารทรัพยากรบุคคลของผู้พิพากษาในทางปฏิบัติ ผู้พิพากษาที่เริ่มเข้ารับราชการใหม่ มีอาวุโสน้อย จะถูกส่งไปประจำยังศาลต่างจังหวัด เมื่อทำงานไปได้สักระยะหนึ่งก็จะย้ายเข้ามาใกล้ส่วนกลางมากขึ้น ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสงานมากก็จะถูกแต่งตั้งโยกย้ายในศาลต่างๆอยู่ในกรุงเทพฯหรือจังหวัดใกล้เคียง และจังหวัดใหญ่ๆ ลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้ประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดห่างไกลที่มีคดีความในศาล ก็จะพบแต่ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสน้อยกว่า มีประสบการณ์น้อยกว่าในการดูแลงานคดี โดยไม่มีโอกาสได้พบกับผู้พิพากษาอาวุโสที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่า การบริหารงานบุคคลดังกล่าวมีลักษณะเป็นการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง โดยให้ผู้พิพากษาที่มีอายุงานมากและมีประสบการณ์เข้ามารวมอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของการให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชนในสังคมเมืองกับประชาชนในสังคมชนบท ซึ่งขัดแย้งกับหลักการที่กล่าวมาข้างต้น ที่ว่าประชาชนไม่ว่าอยู่ในเมืองหรือจังหวัดอื่น ควรได้รับการปฏิบัติหรือบริการจากศาลที่เท่าเทียมกัน
กรณีดังกล่าวมิได้เกิดเฉพาะในระบบศาลเท่านั้น พนักงานอัยการก็ดี เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ดี ก็บริหารจัดการบุคคลในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของงานวิจัยนี้
หลังจากที่ได้ทำการศึกษาวิจัยและจัดทำแบบสอบถาม เพื่อให้บุคคลในหลายอาชีพ
ช่วยกรอกแบบสอบถาม ผลการประมวลผลแบบสอบถามปรากฎว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการปรับปรุง การกำหนดชั้นตำแหน่งและการบรรจุแต่งตั้งของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบทให้มีอาวุโสมากและน้อยคละกันไป ตำแหน่งต่างๆในหน่วยงานของเมืองและชนบทในกระบวนการยุติธรรมควรมีชั้นตำแหน่งที่เสมอกัน ตลอดจนยึดประโยชน์ของประชาชนในการได้รับการอำนวยความยุติธรรมเป็นหลัก
จากการศึกษาวิจัยและผลการประเมินแบบสอบถามดังกล่าว ผู้วิจัยใคร่ขอเสนอแนะให้หน่วยงานต่างๆในกระบวนการยุติธรรม ควรมีการปรับปรุงให้มีการทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงประสานกัน การแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมควรเปลี่ยนหรือเพิ่มแนวคิด โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการแต่งตั้งโยกย้ายด้วย มิใช่แต่เพียงพิจารณาตัวผู้พิพากษาว่าปฏิบัติหน้าที่ในที่กันดานไม่เจริญมาแล้ว ควรจะให้ย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ในเมืองที่เจริญกว่า ตลอดจนควรมีปรัชญาในการอำนวยความยุติธรรมที่มีทิศทางเดียวกัน มีคณะกรรมการพิจารณาประชุมร่วมกัน มีการศึกษาปัญหาท้องที่ของตนและองค์กรที่เกี่ยวข้อง และมีวัตถุประสงค์ร่วมกันอย่างแท้จริง เพื่อให้เป็นกระบวนการที่สามารถอำนวยความยุติธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในสังคมเมืองและสังคมชนบท
Abstract
The criminal law and the administration of justice are very important and necessary to society. Both the substantive and procedural laws contain the legal principles which provide justice to the victims, the offenders and the public. In the administration of justice, the courts of first instance have been established in both Bangkok and all provinces of the country to try the cases brought before them. Under the constitution, members of the public regardless of whether they live in urban or rural areas are supposed to have equal access to the judicial process. However, due to the policy on management of human resources of the judicial service, the judge who has just begun his career and very junior will be assigned to the provincial courts and after awhile, he will be moved closer to the center, which is Bangkok. The senior judges are generally appointed to the various courts in Bangkok itself or neighboring provinces or major provinces. Such human resources management policy results in members of the public in distant provinces who have cases in courts are likely encounter junior, inexperienced judges than senior, experienced judges. The policy which appoints the very senior and experienced judges to the courts in the capital city leads to the centralization of judicial power, causing discrepancy in the provision of justice to people in urban and rural communities, contrary to the principle of equal access to the judicial process enshrined in the Constitution.
Apart from the judicial service, the public prosecution service and the police service also have the same or similar human resources management policy.
After carrying out study and research, including questionnaires forwarded to members of various professions for response, it was found that those responding to the questionnaires were in agreement in the change in the recruitment, the appointment and the promotion of judicial service personnel. The judicial service personnel in the urban and rural communities should consist of both junior and senior personnel and the public interest shall be the goal in the administration of justice.
From the study, research and the questionnaires mentioned above, the authors wish to recommend that all agencies involved in the administration of justice should improve their co-operation and co-ordination of works. The appointment and assignment of personnel in the administration of justice must take into account the public interest as well as other factors, not just the consideration that such person has been assigned and worked in distant, undeveloped area and should be assigned to work in more developed area. In addition, all the agencies must develop the same philosophy in the administration of justice and a joint committee should be set up to facilitate the co-operation and co-ordination of works to ensure the fair and efficient administration of justice and to eliminate the discrepancy in the urban and rural communities.
นักวิจัย : รองศาสตราจารย์ ดร. กมลชัย รัตนสกาววงศ์, ผู้ช่วยศาสตรจารย์อภิญญา เลื่อนฉวี, ผู้ช่วยศาสตรจารย์ธานี วรภัทร์
สังกัด : คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์
คำสำคัญของโครงการ :
กฎหมายอาญา
ปีที่เสร็จ : 2551