การใช้บุพบทโดยไม่จำเป็นในหนังสือพิมพ์ไทย
.png)
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้คือการสำรวจ รวบรวม แจกแจง จำแนกกลุ่ม และวิเคราะห์สาเหตุการใช้บุพบทที่ใช้โดยไม่จำเป็นในหนังสือพิมพ์ ในคลังข้อมูลข่าวและบทความจากหนังสือพิมพ์กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 20,434,100 คำ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 พฤษภาคม ปี 2550 ซึ่งรณรงค์ให้เป็นปีภาษาไทยเฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับข้อมูลสัมภาษณ์แบบเจาะลึกของผู้ให้สัมภาษณ์ 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายราชบัณฑิตยสถาน และฝ่ายผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตข้อเขียนต่างๆ ในหนังสือพิมพ์เพื่อสะท้อนให้เห็นการใช้บุพบทในภาษาไทยปัจจุบัน และเพื่อรณรงค์ให้สื่อมวลชนใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องเนื่องในปีภาษาไทยเฉลิมพระเกียรติ จากแนวคิดเรื่องคำที่เกิดคู่กัน พบว่า สามารถจำแนกประเภทการใช้บุพบทโดยไม่จำเป็นในหนังสือพิมพ์ตามชนิดของคำที่เป็นเงื่อนไขให้ปรากฏร่วมได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทนามหรือนามวลีเป็นเงื่อนไข กริยาหรือกริยาวลีเป็นเงื่อนไข และบุพบทอื่นเป็นเงื่อนไข ผลการวิจัยพบว่า การใช้บุพบทโดยไม่จำเป็นประเภทที่พบมากที่สุดคือประเภทนามหรือนามวลีเป็นเงื่อนไข บุพบทที่ใช้โดยไม่จำเป็นมากที่สุดคือ"ใน" และหัวข้อที่มีจำนวนบุพบทที่ใช้โดยไม่จำเป็นมากที่สุดคือ ข่าวเศรษฐกิจและข่าวการเมือง ส่วนสาเหตุการใช้บุพบทโดยไม่จำเป็นมีทั้งที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ คือเกิดจากการสัมผัสภาษาและความเคยชิน และเกิดจากความตั้งใจของหนังสือพิมพ์เอง คือเกิดจากความจงใจของผู้เขียนและกระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรูปแปรของบุพบทสามารถตอบสนองความต้องการในการเขียนข่าวหรือบทความในหนังสือพิมพ์ซึ่งมีเงื่อนไขมากมายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเงื่อนไขเกี่ยวกับ"เนื้อหา"นอกจากนี้ ความสามารถในการเผยแพร่และเป็นแบบอย่างของหนังสือพิมพ์ก็ยิ่งทำให้ทั้งผู้เขียนและผู้อ่านเคยชินกับรูปแปรที่ไม่จำเป็นโดยไม่รู้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว"เลียน"ต่อๆกันไป ดังนั้น บุพบทที่ไม่จำเป็นจึงมีแนวโน้มจะปรากฏในหนังสือพิมพ์รวมทั้งในภาษาไทยปัจจุบันมากขึ้น เมื่อสำรวจการรับรู้และแก้ไขปัญหา พบว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าหนังสือพิมพ์ใช้บุพบทโดยไม่จำเป็นจริง แต่ยังไม่คิดว่าการใช้บุพบทโดยไม่จำเป็นเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม พบว่าฝ่ายราชบัณฑิตยสถานเข้าใจเงื่อนไขการใช้ภาษาของหนังสือพิมพ์เป็นอย่างดี ในขณะที่ฝ่ายหนังสือพิมพ์ก็มีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้องและเต็มใจจะแก้ไขตามคำแนะนำของราชบัณฑิตยสถาน ดังนั้น แนวทางแก้ไขปัญหาบุพบทที่ไม่จำเป็นที่ตรงกับสาเหตุหากทั้งสองฝ่ายต้องการ ก็คือประสานวงวิชาการกับวงวิชาชีพเข้าด้วยกัน เพื่อสร้าง แนะนำ ตลอดจนเผยแพร่แบบอย่างที่ถูกต้องและสอดคล้องกับเงื่อนไขของหนังสือพิมพ์ ให้หนังสือพิมพ์เคยชินแล้วใช้เผยแพร่สู่สื่อด้วยกันและสู่สังคมอีกต่อหนึ่ง
Abstract
นักวิจัย : อาจารย์สิริลักษณ์ หุ่นศรีงาม
สังกัด : คณะศิลปศาสตร์
คำสำคัญของโครงการ :
การใช้บุพบท,ภาษาหนังสือพิมพ์
ปีที่เสร็จ : 2551