การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน ของงบการเงินบริษัทกลุ่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
.png)
บทคัดย่อ
รายงานการวิจัย เรื่องการศึกษาการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน ของงบการเงินบริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย เป็นการวิจัยประยุกต์เชิงคุณภาพ มุ่งศึกษาเพื่อให้ทราบแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล ประเมินระดับการเปิดเผยข้อมูล เปรียบเทียบแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลกับข้อกำหนดของคณะกรรมการหลักทรัพย์ และเพื่อให้ทราบความคิดเห็นของผู้บริหารในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน ตลอดจนความคิดเห็นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์เกี่ยวกับระดับผลกระทบที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนในการใช้ประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูล
ในการวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้กลุ่มตัวอย่าง บริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่คงอยู่ในปี 2550 โดยตรวจสอบรายงานแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) วันที่ 31 มีนาคม 2551 เพื่อประเมินการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน จำนวน 19 บริษัท และใช้แบบสอบถามระดับความคิดเห็นในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินจากผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี จำนวน 5 บริษัท ตลอดจนใช้แบบสอบถามการใช้ประโยชน์จากการเปิดเผยข้อมูลจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จำนวน 55 คน ผลการวิจัยพบว่าผู้บริหารบริษัทตัวอย่าง มีแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีค่าเฉลี่ยแตกต่างกัน เช่น การอธิบายการจัดทำประมาณการด้วยความสมัครใจ การอธิบายมาตรการหรือขั้นตอนการอนุมัติการทำรายการระหว่างกัน การอธิบายนโยบายหรือแนวโน้มการทำรายการระหว่างกันในอนาคต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงินของผู้บริหารอยู่ในระดับเปิดเผยครบถ้วน และสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่คณะกรรมการหลักทรัพย์กำหนด ผู้วิจัยยังพบว่าผู้บริหารมีระดับความคิดเห็นในการเปิดเผยข้อมูลแตกต่างกัน มีการเปิดเผยข้อมูลอยู่ในระดับมากและระดับมากที่สุด ยกเว้นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับคำอธิบายรายการผลการดำเนินงานเปรียบเทียบกับประมาณการ ซึ่งผู้บริหารมีระดับความคิดเห็นในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน ในระดับปานกลางเท่านั้น
นอกจากนี้ผลการวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างการให้ความสำคัญการเปิดเผยข้อมูลของผู้บริหารและการให้ความสำคัญในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ของนักลงทุนไม่สอดคล้องกัน กล่าวคือบางรายการซึ่งผู้บริหารให้ความสำคัญในการเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลระดับครบถ้วน แต่นักลงทุนจะนำไปใช้ประโยชน์น้อย ในทางตรงกันข้ามการเปิดเผยข้อมูลที่ผู้บริหารให้ความสำคัญในการเปิดเผยรายละเอียดของข้อมูลระดับรองลงมาแต่นักลงทุนให้ความสำคัญในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เพื่อการตัดสินใจลงทุนระดับมาก
การวิจัยครั้งนี้ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์เสนอแนะข้อมูลที่ควรจะเปิดเผยไว้ใน แบบ 56-1 เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลมีประโยชน์เชิงคุณภาพมากขึ้น เช่น แบบ 56-1 มีความยาวมากเกินไป ทำให้ผู้ลงทุน ไม่สนใจที่จะอ่าน ในขณะที่บทสรุป ไม่ครอบคลุมเนื้อหาที่สำคัญเท่าที่ควร บริษัทส่วนใหญ่มักให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจแต่ละสายผลิตภัณฑ์น้อยมาก มักให้ข้อมูลแบบกว้างเท่านั้น ควรนำเสนอในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบกับคู่แข่งให้มากขึ้น และนำเสนอข้อมูลอุตสาหกรรมให้มีละเอียดมากขึ้น การจัดประเภทและตัวเลขของผลการดำเนินงานในแบบ 56-1 บางครั้งไม่ตรงกับงบการเงิน ทำให้อ้างอิงเปรียบเทียบข้อมูลจาก แบบ 56-1 คลาดเคลื่อนได้ และยังเสนอแนะว่า ควรเปิดเผยระบบการเงิน การตลาดของประเทศ ปัจจัยภายนอก (ปัญหาการเมือง และภาวะตลาดโลก) เป็นต้น
งานวิจัยนี้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ผู้บริหารได้เปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนมากขึ้นได้แก่ ควรกำหนดข้อมูลที่ควรให้เปิดเผยเนื่องจากนักวิเคราะห์ต้องการใช้ข้อมูลนั้นๆ แต่ผู้บริหารมิได้เปิดเผย และข้อมูลที่ควรยึดหยุ่นในการเปิดเผย เนื่องจากนักลงทุนใช้ประโยชน์ในระดับน้อย และข้อมูลที่ควรเปิดเผยให้มากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนให้ความสำคัญและต้องการรายละเอียดมาก
ผู้วิจัยศึกษาบริษัทตัวอย่าง จากบริษัทกลุ่มหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพียงกลุ่มเดียว ผู้วิจัยเห็นว่า โครงการวิจัยต่อไปในอนาคต ควรจะศึกษาการให้ความสำคัญการเปิดเผยข้อมูลของผู้บริหารและการให้ความสำคัญการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ของนักลงทุนในวงกว้างเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เหมาะสมในการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน.
Abstract
The Study of The Disclosure of Non- Financial Information of Financial Statement of Securities Sector Companies Listed in the Stock Exchange of Thailand is a qualitative research. The purposes of this research were to provide the guideline in Practice, to evaluate the level of disclosure and, to make a comparison between the sample companies Practice to the guideline in Practice of The Stock Exchange of Thailand. The result of this research consists of evaluating the level of managers’ opinions and the level of securities analysts’ opinions in disclosure of non-financial information which affected to investment decision.
Researcher selected the 19 sample Securities Sector Companies Listed in The Stock Exchange of Thailand which registered and used the Annual information filing ( form 56-1) by checking the form in order to evaluate the level of disclosure of non- financial information. The data were collected from Securities companies which registered and reported to the form 56-1. Moreover, the researcher sent the questionnaire to 5 managers and to 55 securities analysts. The research finding that the disclosure of non - financial information in each company was not different in materiality level, for example, the explanation of forecasting financial statement, the explanation of authorized processing for inter-transactions and the trend of forecasting for inter-transaction. However, the level of managers’ opinions in disclosure of non-financial information is high level except to the disclosure of Management Discussion and Analysis which is medium level.
The researcher found that the correlation between the disclosure of non-financial information and the usefulness of the information for securities analysts’ decision making was not related. Such as, some information item which manager disclosed as materiality level but the securities analysts thought that it was not useful for decision making. On the other hand, some information item which manager disclosed as less materiality level but the securities analysts need that information for decision making.
In addition, the securities analysts’ opinions of disclosure the non-financial information that if the managers disclose more important information in the form 56-1 then the disclosure will be more qualitative. For example, the detail in the form 56-1 is too long to make the investors ignore that information and the summary did not cover the important information. Moreover, most companies released broad details, it should disclose more dept details, such as, the line of production, competitive market, industrial information, the classifying of accounting information, the disclosure of financial system, economics and local politics, etc.
This research was useful for the Board of director of the Securities Exchange of Thailand to make the disclosure of non-financial information more standard and suitable. As the result, the important non-financial information items was need to be disclosed as dept details but some non-financial information may flexible for disclosure.
The researcher selected only one group of Securities Sector Companies Listed in The Stock Exchange of Thailand so that the result may not be summarized. Then, the researcher will study more for the disclosure of non-financial information for investors’decision making in order to find the standard practice in disclosing the non-financial information.
นักวิจัย : อ.สุฏิกา รักประสูติ
สังกัด : คณะการบัญชี
คำสำคัญของโครงการ :
การเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน
ปีที่เสร็จ : 2551