เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราของประเทศไทย

บทคัดย่อ
ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรากำเนิดขึ้นตั้งแต่กฎหมายตราสามดวงพระอัยการลักษณะผัวเมีย จากการศึกษาวิจัยพบว่า ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นเรื่องที่ผู้ชายลงมือกระทำชำเราผู้หญิง จึงมีแต่ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย ถึงแม้กระนั้น กฎหมายก็มิได้มุ่งคุ้มครองเสรีภาพของผู้หญิงอย่างแท้จริง แต่กลับคุ้มครองความเด็ดขาดในอำนาจอิสระของผู้ปกครองหญิงเท่านั้น ต่อมาแนวคิดและเหตุผลในการคุ้มครองเหยื่ออาชญากรรมในทางเพศเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แนวคิดในบริบทของสังคมโลกปัจจุบันสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับการมีรสนิยมทางเพศของทุกเพศโดยเท่าเทียมกัน และเรื่องความหลากหลายทางเพศเกิดการยอมรับผ่านทางรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญาของไทยสมัยใหม่ควรจะคุ้มครองเหยื่อผู้ถูกกระทำทางเพศอย่างเท่าเทียมกันโดยห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ ผู้วิจัยจึงเห็นว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราของประเทศไทย กฎหมายควรบัญญัติ คำว่า “กระทำชำเรา” เสียใหม่โดยกำหนดคำนิยามความหมายอันมีลักษณะการกระทำโดยห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศ และให้กระทำชำเราหมายถึงทั้งการกระทำในเชิงรุกและเชิงรับอย่างเสมอกัน ทั้งนี้เเพื่อให้เกิดความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันในทางเพศของทุกเพศ และสอดรับกับบริบทของสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยผ่านการบัญญัติให้เกิดความชัดเจนแน่นอนในกฎหมายอาญาอันเป็นหลักประกันในกฎหมายอาญาและสะท้อนถึงความเป็นนิติรัฐของประเทศไทย
นักวิจัย : รศ.อัจฉรียา ชูตินันทน์
สังกัด : คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ปีที่เสร็จ : 2566