ไทยเท่ด้วย DNA เด็กยุคใหม่ โดย ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู
มุมมองในฐานะคุณครูที่มีต่อเด็กรุ่นใหม่เป็นอย่างไร
เด็กแต่ละยุคสมัยจะมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีและเครื่องมือที่เข้ามามีผลต่อสังคม วัฒนธรรม หรือเศรษฐกิจในยุคนั้น ซึ่งปัจจุบันเด็กโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยี ดังนั้นเด็กจะคิดไวทำไวเพราะมีหลายปัจจัยที่ทำให้เป็นแบบนั้น ด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปไวมากๆ และเด็กมีสังคมที่กว้างขวาง คบเพื่อนได้จากทั่วโลกทั้งๆที่ไม่ได้เจอหน้ากัน จาก social network platform ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Line เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปวัฒนธรรมในการดำเนินชีวิต การใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กก็เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน จึงทำให้เด็กยุคนี้มีการทำอะไรอยากได้ผลสำเร็จไวๆ ใจร้อน ไม่อยากทำอะไรที่ต้องรอเวลา ทำอะไรต้องเห็นผลเร็ว ถ้าไม่ได้ก็ลดละเลิกทิ้งและไปทำอย่างอื่น นี่คือลักษณะของเด็กรุ่นนี้ แต่ก็มีข้อดีคือ ความที่เขาหาข้อมูลได้ไว เพราะฉะนั้นจะเรียนรู้ได้เร็วมาก ถ้าเราเข้าใจเขาแล้วหาวิธีในการที่จะสร้างทักษะบางอย่างเพื่อให้เขาอยู่รอดได้ในอนาคต เด็กรุ่นนี้จะเก่งมาก
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้สร้าง Future skill ให้เด็กกลุ่มนี้
ในเวลาที่เราพูดถึง Future Skill เรามองถึงทักษะแห่งอนาคตทักษะที่ทำให้เด็กเหล่านี้สามารถดึงสิ่งที่โดดเด่นในตัวเองออกมาใช้งานได้มากที่สุด ที่ทำให้อยู่รอดได้ในอนาคต ที่จะสามารถทำให้หุ่นยนต์แทนที่เด็กเหล่านี้ไม่ได้ เรามักจะได้ยินคนพูดตลอดว่าในหลายอาชีพหุ่นยนต์จะแทนที่มนุษย์แล้ว เพราะฉะนั้นเด็กที่จบออกไป การที่เขาจะสามารถที่จะดำรงชีวิตให้อยู่รอดได้ในสังคมได้เด็กจะต้องดึงทักษะออกมาเป็นทักษะที่จะพัฒนาและเก่งกว่าหุ่นยนต์ เช่น ทักษะวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา และการหาเหตุผลแยกแยะปัญหา ซึ่งมนุษย์มีสัญชาตญาณตรงนี้ซึ่งเก่งกว่าและได้เปรียบกว่าหุ่นยนต์ เพราะหุ่นยนต์ถูกตั้งโปรแกรมไว้ว่าจะต้องทำ 1 2 3 4 และถึงแม้ว่าหุ่นยนต์ว่าโปรแกรมไว้ให้ฉลาดแค่ไหนก็ตาม ภายในระยะเวลา 10-20 ปีนี้ยากมากที่จะเห็นว่าหุ่นยนต์เก่งกว่ามนุษย์ เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถฝึกเด็กให้สามารถดึงทักษะ ดึงสัญชาตญาณในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นจุดเด่นของมนุษย์ออกมาแล้วนั้น จะทำให้เด็กสามารถที่จะเอาชนะหุ่นยนต์ได้ สามารถที่จะทำงานที่หุ่นยนต์แทนที่เราไม่ได้ ซึ่งทักษะเหล่านี้มันก็จะมาพร้อมกับทักษะในเรื่องของความชาญฉลาดทางด้านดิจิทัล คือเด็กสามารถรู้ว่าเวลาหาข้อมูลจะต้องไปหาจากแหล่งไหน ใช้เครื่องมืออะไร ข้อมูลที่ได้มาเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือหรือไม่ ต้องมีการประเมินข้อมูล ต้องมีการแยกแยะ และดึงข้อมูลขึ้นมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างชาญฉลาด
อีกเรื่องหนึ่งคือ ต้องรู้เท่าทันทางด้าน Personal Security คือ ว่าดูความปลอดภัยทางด้านข้อมูลส่วนบุคคล เพราะปัจจุบันความที่มีดิจิทัลแพลตฟอร์มจำนวนมาก ดังนั้นข้อมูลส่วนบุคคลบางครั้งเราจะต้องรู้ว่าถ้าไปช่องทางนี้เราจะต้องระวังในเรื่องอะไร เพราะว่าขณะนี้อาจจะมีเรื่องของ Social bully ก็ต้องระวัง ต้อง handle กับปัญหานั้นๆได้ เขาจะรู้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้
ทักษะการเลือกใช้เทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือที่ดีที่สุดก็คือเทคโนโลยี จะต้องรู้จักหยิบและเลือกใช้เครื่องมือเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์กับตนเองและเป็นประโยชน์กับงานตนเอง อย่างเช่น พูดเรื่อง AI หรือ Big Data ต้องรู้ว่า AI หรือ Big data จะช่วยให้งานของเขาง่ายขึ้นได้อย่างไร ช่วยให้เร็วขึ้นได้อย่างไร อันนี้คือ future skill ที่เด็กยุคนี้จะต้องฝึก จะต้องรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะหยิบเลือกใช้ได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นทักษะหนึ่งที่มหาวิทยาลัยพยายามปลูกฝัง ให้นักศึกษาที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยได้สร้าง skill เหล่านี้เป็น set ของ skill สำหรับอนาคตที่เราเรียกว่า DPU DNA
จาก future skill นำมาสู่การสร้าง Core skill หรือ DPU DNA ให้ขยายความ DPU DNA ว่ามีอะไรบ้าง
คำว่า DNA ก็คือเป็นยีนส์อย่างหนึ่งที่มีอยู่ในตัวของคนเรา และทำให้เราไม่เหมือนคนอื่น ซึ่งลักษณะของ DPU DNA นี้เป็น DNA ที่ฝังอยู่ในตัวของนักศึกษาที่จบจาก DPU ทุกคน จะเป็น DNA ที่ทำให้เรามีคาแรคเตอร์บางอย่างไม่เหมือนคนอื่น แม้ว่าเราจะจบต่างหลักสูตรกันจากมหาวิทยาลัย แต่เมื่อเจอเราแล้วเขาจะบอกว่าเด็กคนนี้จบจาก DPU เพราะว่าเราพยายามที่จะสร้าง Skill สำหรับอนาคต หรือ future skill set ให้กับเขา
Skill สำหรับอนาคตนั้น เราแบ่งเป็น 6 อย่าง skill แรกคือ creativity ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องมาพร้อมกับ skill อย่างอื่นด้วย ก็คือ problem solving การแก้ไขปัญหา การคิดวิเคราะห์ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดปัญหานักศึกษาสามารถวิเคราะห์แก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ การวิเคราะห์หรือแก้ไขปัญหาต้องการในลักษณะเชิงสร้างสรรค์และเป็น positive thinking เป็นสิ่งที่นักศึกษาของเราต้องเรียนรู้
ทักษะอื่นที่สำคัญนั่นก็คือการทำงานเป็นทีม จริงๆตั้งแต่ในอดีตมาแล้วเราอยากปลูกฝังให้มนุษย์ทำงานร่วมกัน หากสังเกตถ้าเราคิดคนเดียวก็จะแค่มุมมองของเราเพราะว่าเราจะมีมุมมองเท่านั้น แต่ถ้าหากได้คุยกับเพื่อนๆ หลายๆคน เราจะเห็นได้เลยว่าไอเดียของเพื่อนๆที่มาแชร์ร่วมกัน จะสามารถสร้างไอเดียใหม่ๆหลากหลายและเป็นประโยชน์ได้ แต่การที่ทำงานร่วมกันบางครั้งก็อาจจะเกิดข้อขัดแย้งขึ้นบ้าง เราก็ต้องฝึกว่าหากเกิดข้อขัดแย้งขึ้นมา และถ้าหากเราได้เป็นผู้นำเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ถ้าเป็นผู้ตามเราจะตามแบบไหน ที่จะไม่ถูกผู้นำชักจูงไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควร พวกนี้เป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องเรียนรู้ เพราะเมื่อจบออกไปเราอาจจะต้องทำงานข้ามแผนกและส่วนใหญ่จะมีปัญหาการทำงานข้ามฝ่ายข้ามแผนกเสมอ เพราะแต่ละฝ่ายแต่ละแผนกก็จะมีลักษณะการทำงานแตกต่างกัน เพราะคิดต่างและมีมุมมองที่แตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงให้ นักศึกษา สามารถทำงานร่วมกันข้ามหลักสูตรเพื่อศึกษาลักษณะของนักศึกษาแต่ละหลักสูตร ซึ่งไม่เหมือนกัน
ทักษะอย่างหนึ่งคือ การสื่อสาร เพราะการสื่อสารเป็นอาวุธอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ว่าได้ มนุษย์ถ้าสื่อสารดีบางครั้ง เรื่องที่ยากๆก็จะเป็นเรื่องง่ายดายได้ เพียงแค่รู้วิธีการสื่อสาร ในต่างประเทศจะมีวิชาที่สอนในเรื่องของการสื่อสาร เช่น ถ้าเรา อยากตำหนิคนเราอาจจะต้องพูดชื่นชมเขาก่อน อาจจะเริ่มพูดว่าสิ่งที่เขาคิดนั้นเป็นสิ่งที่ดีเป็นสิ่งที่เรายอมรับแต่เราอยากจะให้ปรับเล็กน้อยในบางส่วน ซึ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ฟังคล้อยตามและพร้อมที่จะทำตามเรา แต่ถ้าเกิดเราไม่มีทักษะ ไม่มีจิตวิทยาใน การสื่อสาร เราอาจจะตำหนิเขาไปเลยว่าสิ่งนี้ไม่ดี ซึ่งผู้ฟังก็อาจจะต่อต้านเราขณะที่ฟัง ดังนั้นอาจจะทำให้การทำงานเกิดปัญหาขึ้นได้
อีกทักษะหนึ่งก็คือ ทักษะการใช้เทคโนโลยี เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้มนุษย์ สามารถใช้ชีวิตได้ใน อนาคต เพราะตอนนี้มีเทคโนโลยีมากมายที่เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของเรา อย่างเช่น Facebook ใครจะรู้ว่าเทคโนโลยีที่ซ่อนอยู่ใน Facebook เทคโนโลยีหนึ่งก็คือ Big Data ซึ่งใช้ในการวิเคราะห์พฤติกรรมของเรา สังเกตไหมว่าเวลาใช้ Facebook ทำไมสิ่งที่เราชอบจะขึ้นมาให้เราเห็นตลอดเวลาเพราะเขาวิเคราะห์พฤติกรรมของเราว่าเราชอบสิ่งนี้เรื่องนี้ อย่างเช่น สมมติชอบเรื่องอาหาร ก็จะเป็นเรื่องอาหารประเภทนั้นๆขึ้นมาให้เราเห็นตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเราจะต้องเข้าใจเทคโนโลยี เข้าใจและต้องรู้จักเลือกใช้ ว่าเราจะใช้เทคโนโลยีไหน มาพัฒนางานของเราให้ดีขึ้น ให้เร็วขึ้น ให้ง่ายขึ้น ให้สะดวกขึ้น และสร้างคุณค่าให้มากขึ้น ในภาษาธุรกิจ เรียกว่า การสร้าง productivity ผลิตภาพ
เทคโนโลยีสุดท้ายที่เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในยุคนี้คือ ทักษะการคิดแบบผู้ประกอบการ ซึ่งนักศึกษาบางคนอาจจะคิดว่า เราไม่อยากเป็นนักธุรกิจแล้วจะเรียนทักษะการคิดแบบผู้ประกอบการไปทำไม ต้องบอกว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างให้เป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่ว่าเมื่อนักศึกษาจบออกไปแล้วต้องบังคับให้ทุกคนเป็นผู้ประกอบการ แต่เรากำลังสร้างให้คิดแบบผู้ประกอบการ การคิดแบบผู้ประกอบการคือ ผู้ประกอบการจะคิดวิเคราะห์ปัญหาอย่างรอบด้าน และพยายามที่จะหาทางเลือกในการแก้ไขปัญหานั้น แต่ในทักษะผู้ประกอบการเราจะฝังความเชี่ยวชาญความรู้การเงินแบบง่ายๆ การตลาดแบบง่ายๆ การทำธุรกิจแบบง่ายๆ เผื่อไว้ว่าสำหรับอนาคตหากใครต้องการทำอาชีพเสริม เขาก็จะมีความรู้ที่จะไปทำอาชีพเสริม ที่เป็น ธุรกิจย่อยๆของตัวเองและจะพัฒนาเป็นธุรกิจที่ใหญ่โตได้ในอนาคต ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันมีเด็กหลายคนเป็น CEO ตั้งแต่อายุ ยังน้อย ไม่จำเป็นต้องอายุ 50-60 ปี ถึงเป็น CEO และปัจจุบันอายุ 20 30 ก็ขึ้นเป็น CEO ได้แล้ว ขอให้มีความกล้า และมีทักษะในการทำธุรกิจ การสร้างธุรกิจ อันนี้จึงเป็นทักษะสำคัญสำหรับโลกยุคปัจจุบัน เพราะในปัจจุบันและในอนาคตเราจะเห็นว่าบริษัทเขาอาจจะเลือกจ้างพนักงานในบางอาชีพที่มี skill แบบเก่าๆ ในบางอย่าง ซึ่งต่อไปเราอาจจะต้องมีอาชีพเสริม หรือที่ฝรั่งเรียกว่า gig economy คือ เราอาจจะมีงานประจำที่หนึ่ง และมีงานพิเศษที่ทำในเรื่องที่เราชอบหรือเชี่ยวชาญเป็นอาชีพเสริม เหมือนกับว่าเราสร้างแหล่งรายได้หลายทาง ซึ่งอันนี้ก็เป็นทักษะหนึ่งที่หุ่นยนต์แทนเราไม่ได้ มนุษย์สามารถมี multi skills คือมีทักษะที่หลากหลาย หุ่นยนต์จะถูกโปรแกรมไว้ให้มี skill เดียว ทำงานที่เชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว ดังนั้นสิ่งนี้คือมหาวิทยาลัยพยายามปลูกฝังให้นักศึกษาทุกคนในทุกหลักสูตร ให้มี 6 skillนี้ ที่เราเรียกว่า DPU DNA ค่ะ
สิ่งที่เราจะทำได้เพื่อผลักดันเด็กรุ่นใหม่ในฐานะความเป็นครู
ถ้าพูดถึงความเป็นครูในสมัยนี้อยากจะบอกว่ายากกว่าการเป็นครูในสมัยก่อนเยอะ ในสมัยก่อนครูจะสอนแบบเลกเชอร์อยู่หน้าชั้นเรียน แล้วก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ ปัจจุบันครูต้องเปลี่ยน ต้องมีมุมมองใหม่ ครูต้องเป็นผู้สร้างทักษะอนาคตให้กับลูกศิษย์ ครูจะเป็นผู้สร้างทักษะอนาคตให้กับลูกศิษย์ได้ จะต้องมีบทบาทใหม่ที่เรียกว่า Coach หรือ Facilitator คือผู้ชี้ทาง ผู้ชี้นำ เมื่อก่อนครูสอนแบบเลกเชอร์ก็จะบอกว่าเนื้อหาเป็นอย่างไร ทฤษฎีว่าอย่างไร แต่ถ้าเป็น Coach หรือ Facilitator ครูจะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้เพื่อให้นักศึกษาได้คิด สร้างกิจกรรมเพื่อให้นักศึกษาได้มีการพัฒนาทักษะในการคิด พัฒนาสมอง สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ซึ่งหลายครั้งกิจกรรมการเรียนรู้สามารถสร้าง skill ให้กับนักศึกษาอย่างที่นักศึกษาจำเป็นต้องใช้ อย่าง 6 skills ที่กล่าวมานั้นเป็นทักษะที่สร้างขึ้นจากกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งสิ้น ไม่ได้สร้างจากการเลกเชอร์เพียงอย่างเดียว เพราะว่าในการที่ครูสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ จะมีทฤษฎีหนึ่งที่บอกว่า นักศึกษาจะมีการพัฒนาในการคิด พัฒนาสมองได้ จะต้องเกิดจากการเรียนรู้ที่มีสภาพแวดล้อมการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นครูจะต้องจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ สามารถสร้างจินตนาการ และเอาจินตนาการนั้นมาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมได้ อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งครูจะต้องมีความอดทน เก่งในการจัดการและแก้ไขปัญหาในชั้นเรียนได้ ถ้าครูมีการสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนรู้แล้วนักศึกษาจะเรียนรู้ได้มากกว่า 70% ของสิ่งที่ครูให้ แต่ถ้าเป็นเลกเชอร์แบบเดิมนักศึกษาจะเรียนรู้ได้แค่ 10% เท่านั้น ดังนั้นครูจะต้องฝึกฝน มีการพัฒนาทักษะต่างๆของครูเองเหมือนกัน เพื่อให้สามารถเป็น Coach หรือ Facilitator ได้
"ครูเท่" ต้องเป็นอย่างไร
ครูจะไม่ใช่เป็นแค่เพียงผู้สอนแบบเดิมอีกต่อไป ครูจะต้องเป็นคนสร้างทักษะแห่งอนาคต ในการสร้างทักษะแห่งอนาคตไม่ง่าย ถ้าพูดง่ายๆคือ ครูเป็นผู้ออกแบบอนาคตให้นักศึกษา ซึ่งครูต้องมองอนาคตให้ออกก่อนว่านักศึกษาที่จบออกไปแล้ว ต้องมองออกว่าอาชีพนี้ นักศึกษาจะต้องเรียนรู้อะไรบ้าง เขาจะต้องมีทักษะมีความรู้อย่างไรบ้าง จากนั้นครูจะต้องใช้เครื่องมือเพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ ปัจจุบันจะมีคำฮิต เช่น เรียนออนไลน์ ครูก็ต้องรู้ด้วยว่าการเรียนออนไลน์สร้างทักษะอะไรให้กับนักศึกษาได้ ถ้าเรียนแบบออฟไลน์จะสร้างทักษะแบบไหนให้นักศึกษา เพราะฉะนั้นจึงมีแนวคิดว่าเราจะต้องผสมผสานระหว่างการเรียนแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างทักษะที่จำเป็นที่เราต้องการสร้างให้กับนักศึกษาทั้งหมด ดังนั้นครูจะต้องเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ anywhere anytime คือเรียนรู้ที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ ดังนั้นครูจะต้องเรียนรู้ในการใช้ Tools ต่างๆ ดังเช่น ขณะนี้ที่ไวรัสโควิดกำลังแพร่ระบาด ดังนั้นจะมีการสอนโดยใช้ ZOOM ซึ่งครูก็ต้องรู้ว่า ZOOM คืออะไร ใช้สอนแบบไหนได้ ซึ่ง ZOOM เป็นเครื่องมือที่ช่วยสอนแบบไลฟ์สดได้ ระหว่างไลฟ์สดก็สามารถสนทนากับนักศึกษาได้ด้วย เราก็จะเห็นนักศึกษาผ่านหน้าจอของเรา และก็สามารถอัดวิดีโอระหว่างการสอนได้ด้วย อันนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้การเรียนการสอนออนไลน์ดูไม่จืดชืด เพื่อไม่ให้การเรียนการสอนดูน่าเบื่อเกินไป ดังนั้นครูอาจจะเพิ่มเติม คือ มีการไลฟ์สด มีการส่งคลิปที่ครูอัดไว้ให้เด็กดูล่วงหน้า จากนั้นครูก็อาจจะสร้าง description board เพื่อให้เด็กเข้ามาแสดงความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เด็กจะได้รู้ว่าเพื่อนคิดเห็นอย่างไร ความคิดเห็นของตนเองเป็นอย่างไร จากนั้นครูอาจจะใช้ Tools อย่างอื่น หรือการจัดการสอบได้เอง บางท่านก็มีการจัดการสอบผ่านทาง ZOOM ให้ทุกคน connect ผ่าน ZOOM อาจารย์จะเห็นนักศึกษาทุกคนผ่านหน้าจอ แต่ข้อสอบจะต้องเป็นข้อสอบแนวใหม่ที่เรียกว่า ข้อสอบ Take Home Exam หรือ Open book Exam ครูก็จะสามารถวัดได้ว่านักศึกษาแต่ละคน ถ้าเราให้เขาทำข้อสอบอยู่ที่บ้านต้องเป็นข้อสอบที่ลอกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้อสอบจะต้องเป็นในลักษณะ scenario based เป็นสถานการณ์สมมติที่ไม่มีคำตอบตายตัว เด็กจะต้องหาข้อมูลเยอะแยะมากมาย จากหลายแหล่งข้อมูล เพื่อมาตอบคำถามข้อนั้น ดังนั้นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับครูมากในการออกข้อสอบเหล่านี้ เพราะครูจะให้นักศึกษาสามารถหาเอกสาร หาข้อมูลอะไรก็ได้ในโลกอินเทอร์เน็ตสำหรับตอบคำถามข้อนั้น ซึ่งการสอบแบบเดิม ที่ว่าสอบสามชั่วโมงเป็น close book exam ทุกคนต้องจำเข้ามาสอบ ดังนั้นตอนนี้ครูเปิดโอกาสให้นักศึกษาข้อมูลอะไรก็ได้เพื่อให้มาตอบคำถามข้อนี้ให้ได้ เพราะว่าในชีวิตจริงแล้วนักศึกษาก็ไม่ได้ปิดสมุดทำงาน นักศึกษาก็ต้องมีความเชี่ยวชาญในการหาข้อมูล และสามารถวิเคราะห์แหล่งข้อมูลได้ว่าแหล่งข้อมูลไหน น่าเชื่อถือ แหล่งข้อมูลไหนไม่น่าเชื่อถือ และจะอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลไหนอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ
อยากบอกอะไรกับบุคลากรในวงการการศึกษาไทย
การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสอน ในการออกแบบทักษะแห่งอนาคตให้กับเด็ก นักศึกษานั้น คนกลุ่มแรกอาจารย์ให้ความสำคัญที่สุดคือ ผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องเข้าใจ ต้องสนับสนุน เพราะว่าเด็กโตผ่านชั้นเรียนมัธยมมาอาจจะเรียนเลกเชอร์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นในการที่เขามาเรียนแบบใหม่ แบบที่ต้องมีกิจกรรมเยอะ ต้องหาความรู้ด้วยตนเอง ตอนแรกเด็กอาจจะไม่ชอบเพราะเหนื่อยกว่าเดิม แต่อันนี้เป็นการเรียนรู้แบบใหม่ที่ต้องสร้างทักษะบางอย่างให้กับเด็กเพื่อให้เขาอยู่รอดได้ในอนาคต เด็กต้องให้ความร่วมมือ ต้องเข้าใจ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีการสื่อสารเพื่อให้เด็กรู้ว่าทำไมครูถึงต้องทำแบบนี้ ทำไมแนวการสอนถึงเป็นแบบนี้ ทำไมครูถึงตั้งคำถามแบบนี้ ทำไมตลอดเวลาถึงต้องมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ทำไมต้องมีการ active ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องมีการปรับตัว ทั้งครู เด็กนักศึกษา รวมถึงผู้ปกครอง ต้องปรับด้วยกันทั้งหมด
ท้ายนี้อาจารย์อยากจะฝากนักศึกษาหรือเด็กทุกคนว่า ในโลกปัจจุบันความรู้เราสามารถหาได้มากมายในโลกออนไลน์ ดังนั้นความรู้จะมีการพัฒนาไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แต่หากเราต้องการความรู้ที่เป็นขั้นสูง เราต้องการความรู้ที่มีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ทักษะทางด้านภาษาเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะความรู้ส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นเราต้องพัฒนาทักษะอ่านและเข้าใจภาษาอังกฤษด้วย จะทำให้เราพัฒนาความรู้ได้ตลอดเวลา ความรู้ไม่มีที่สิ้นสุด อยากให้ทุกคนศึกษาหาความรู้ไปเรื่อยๆ การที่เราเรียนจบในห้องเรียน หรือเรียนจบปริญญาไม่ได้หมายความว่าเราจะสิ้นสุดในการหาความรู้ อย่างอาจารย์ทุกวันนี้ก็ต้องหาความรู้ เพราะทุกวันจะเกิดสิ่งใหม่ๆ ที่เรายังไม่รู้มากมาย ซึ่งอินเทอร์เน็ตสร้างประโยชน์ให้กับวงการการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะว่าสามารถสื่อสารความรู้ทั่วโลกเพียงแค่คลิกเดียว แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องรู้จักการหาข้อมูลเราจะทำอย่างไรให้เราหาข้อมูลที่ต้องการได้ แล้วจะทำอย่างไรเมื่อได้ข้อมูลแล้วเราสามารถที่จะประเมินได้ว่าข้อมูลนั้นถูกต้องหรือเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไม่ควรอ้างอิง อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ อยากจะฝากเด็กๆ ว่าอยากให้ทุกคนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ที่เรียกว่า Lifelong learning การเรียนรู้ต่อไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด เพราะความรู้จะมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
สามารถฟังได้ที่ App Podcast ( Podbean , Soundcloud, Spotify และ Youtube DPU_Channel ) ทั้งระบบ iOS และ Android โดยค้นหา DPU PODCAST
Podbean >> https://bit.ly/2ylmO88
Soundcloud >> https://bit.ly/3a6M5jO
Spotify >> https://spoti.fi/2Vv2RDS
Youtube >> https://bit.ly/2VbLusG