สู้เครียดโควิด..หลังวิกฤติต้องรอด 3 อาชีพ “แอร์ ไกด์ สปา” ต้องอ่าน!!
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะหลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงักและปิดตัวลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ถือเป็นรายได้หลักให้กับประเทศอย่างมหาศาล แม้ในตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในส่วนของภาครัฐบาลเองก็มีแนวทางการฟื้นฟูและปรับทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู่ความยั่งยืน สร้างความเชื่อมั่นในนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เน้นเรื่องความปลอดภัย พร้อมชูการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่คลายตัวลง หลายๆ ภาคส่วนต่างกลับมาดำเนินงานหรือดำเนินธุรกิจกันตามปกติ ภายใต้การปฏิบัติตามมาตราการที่คุมเข้มของรัฐบาล แต่ยังคงมี 3 อาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทยน่าเป็นห่วง เพราะได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ คือ แอร์โฮสเตส ไกด์ และผู้ให้บริการนวด/สปา หลายๆ คนจิตตกและเครียดกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องรู้จัก ยอมรับ และปรับตัว
ศูนย์วิจัยและพัฒนา RDI มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ทำการสำรวจ 3 กลุ่มอาชีพหลักการท่องเที่ยวไทยพบว่า หลังจากที่รัฐบาลทั่วโลกมีประกาศสั่งปิดเมือง ปิดประเทศ จำกัดการเดินทาง และงดกิจกรรมที่มีการร่วมกลุ่มชุมนุมกันเป็นจำนวนมากนั้น กลุ่มอาชีพ “แอร์โฮสเตส หรือ สจ๊วต” เป็นกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะต้องยุติการบินอย่างไม่มีกำหนดและถูกลดทอนเงินเดือนเพื่อประคองสถานการณ์ของบริษัท ทำให้ขาดรายได้หลัก ขณะเดียวกันยังมีภาระค่าใช้จ่ายเท่าเดิม พนักงานจึงรู้สึกไม่มั่นคงต่ออาชีพส่งผลให้รู้สึกวิตก กังวล และความเครียด เนื่องจากสภาพธุรกิจของบริษัทที่ไม่แน่นอน ทว่าก็สามารถรับมือภายใต้อุปสรรคและปัญหาที่เกิดขึ้น โดยวางแผนการใช้เงินและหากิจกรรมเพื่อผ่อนคลาย เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานบ้าน และหากิจกรรมเสริมทักษะให้กับตนเอง การหัดทำอาหาร เรียนภาษา การฝึกใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นแนวทางในทำอาชีพเสริม ซึ่งจากผลสำรวจต่างก็เห็นตรงกันว่ากิจกรรมดังกล่าวจะทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเองอย่างมีเป้าหมาย
กลุ่มอาชีพต่อไป คือ “มัคคุเทศก์ หรือ ไกด์” กลายเป็นกลุ่มอาชีพที่ไม่มีงานทำตั้งแต่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่กลุ่มอาชีพไกด์ที่มีเงินเก็บออมจากการทำงาน ยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ ไม่ได้คิดหารายได้เสริม ขณะที่กลุ่มอาชีพไกด์ที่ไม่มีเงินออม เกิดความเครียดเพราะขาดรายได้หลัก อีกทั้งยังไม่มีสวัสดิการหรือประกันสังคม แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้บั่นทอนกำลังใจผู้ที่ทำอาชีพไกด์ ต่างยังคงเชื่อมั่นว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงและรายได้สูง มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โดยการจัดระเบียบการใช้ชีวิต วางแผนลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับเงินที่มี มีการหารายได้จากการทำอาชีพเสริม ทั้งยังรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือกันในด้านต่างๆ เช่น การรับบริจาคสิ่งของ การช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า
มาถึงกลุ่มอาชีพ “บริการนวด หรือ สปาไทย”เป็นอีกอาชีพที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เพราะความเชื่อมั่นของผู้บริการที่ลดลง ส่งผลให้มีการใช้บริการน้อยลง แน่นอนว่าทำให้ขาดรายได้ นอกจากมาตรการการช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว การปรับตัวในช่วงโควิดคือ พนักงานใช้เวลาว่างหาความรู้เพิ่มเติมในสายงานที่ทำ และเพิ่มความเชื่อมั่นให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการตามปกติ โดยการให้ความสำคัญด้านความสะอาดปลอดภัยด้านสุขอนามัยการให้บริการ สถานที่ต้องสะอาดและสอดคล้องกับมาตรการของรัฐ รวมถึงพนักงานที่ให้บริการต้องผ่านการอบรมจากกระทรวจสาธารณสุข ปรับมุมมองความคิดในการใช้ชีวิตให้เป็นปกติ ไม่จดจ่ออยู่กับข่าวมากจนเกินไป และหากิจกรรมที่ชื่นชอบทำเช่น การทำอาหารง่ายๆ ก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้
ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแน่นอนว่าทำให้หลายคนเกิดความเครียด ที่สำคัญคือหากรู้วิธีจัดการกับความคิด รับมือกับมันอย่างมีสติ ในทุกวิกฤตมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ แม้ว่าโรคระบาดทำให้คนหวาดกลัว แต่ทำให้คนเรียนรู้วิธีป้องกันตัวเองมากขึ้น และแม้ว่าโรคระบาดทำให้ธุรกิจหยุดชะงัก แต่อาจเป็นโอกาสให้กลับมาตั้งหลักในการก้าวเดิน หรือก้าวกระโดดไปไกลกว่าเดิม ให้มองหาทางเลือกสู่ทางรอด ก็จะมองเห็นประโยชน์ของปัญหา ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
ข้อมูลโดย : ศูนย์วิจัย และพัฒนานวัตกรรมไทย-จีน (RDI ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์