ถอดบทเรียนจีนกับการกู้วิกฤต Covid-19 ไขข้อสงสัยทำไมหลายประเทศต่างยกให้เป็น Role Model

dpu

              สถานการณ์การแพร่ระบาดของ “โคโรนาไวรัส” หรือ Covid19 เมื่อต้นปีที่ผ่านมาได้แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วหลังจากที่พบผู้ติดเชื้อรายแรกในวันที่ 22 มกราคม 2563 ณ เมืองอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีน ในเวลาต่อมาองกรค์อนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกให้รับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสครั้งใหญ่ หรือ Pandemic เนื่องจากพบว่าเชื้อไวรัส ดังกล่าวสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยผ่านการสัมผัสละอองฝอย (Droplets) หรือการสัมผัสสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไว้รัส และสัมผัสบริเวณที่รับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เช่น ปาก และจมูก เป็นต้น ส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศจีนพุ่งสูงถึง 81,340 คน ในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือน 
         
         ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อโรคและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ เช่น การรักษาระยะห่าง การตรวจอุณภูมิ การงดจัดกิจกรรม การห้ามเดินทางภายในประเทศและต่างประเทศ รวมไปถึงมาตรการเด็ดขาด คือ“การปิดเมือง”

dpu

          จีนเป็นประเทศเดียวในโลกที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้สูงถึง 74,588 คน คิดเป็นอัตราส่วน ร้อยละ 91.70 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีอัตราร้อยละ 6.78 ขณะเดียวกันกลับพบว่าประเทศพัฒนาแล้ว มีอัตราการรักษาหายต่ำมาก เช่น สหรัฐอเมริกาสามารถรักษาหายเพียงร้อยละ 2.18 อิตาลี ร้อยละ 12.86 สเปนร้อยละ 12.14 เยอรมัน ร้อยละ 12.91 เป็นต้น (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2563) ส่วนอัตราการเสียชีวิต มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งโลก 30,451 คน ข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2563 (Max Roser, Hannah Ritchie and Esteban Ortiz-Ospina, 2020) โดยประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงสุดได้แก่ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส และอิหร่าน ตามลำดับ โดยอัตราการเสียชีวิตของประเทศดังกล่าวเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงวันที่ 20-30 มีนาคม 2563 ในขณะที่ประเทศในซึกโลกตะวันออกอย่างจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีอัตราการเสียชีวิตลดลง
         

          จะเห็นได้ว่า จีนเป็นประเทศแรกของโลกที่ค้นพบผู้ติดเชื้อรายแรก อีกทั้งยังเป็นประเทศแรกที่สามารถควบคุมการติดเชื้อรายใหม่ได้สำเร็จ หลากหลายประเทศจึงให้ความสนใจกับแนวทางการควบคุมสถานการณ์ รวมถึงมาตรการต่างๆ ในประเทศจีนที่ประกาศใช้ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา

          สายงานวิจัย และพัฒนา Research & Development and Innovation (RDI) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ถอดบทเรียน ความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาลในการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาประเทศภายใต้วิกฤตการณ์รดับรุนแรง การแพร่ระบาทของไวรัส Covid -19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจของโลก ซึ่งนอกจากมาตรการเข้มงวดของรัฐบาล บทบาทสำคัญของภาคเอกชนที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว มีดังนี้

dpu

          1. การบริการทางการแพทย์ หรือ Medical Services ผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ของจีน เช่น Baidu และ Alibaba ได้ให้บริการคำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แก่ประชาชนชาวจีนที่อาศัยอยู่ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
          2. การบริการด้านข้อมูลข่าวสาร หรือ Information สำนักพิมพ์เอกชนเปิดให้บริการด้านข้อมูลข่าวสาร คำแนะนำแก่ประชาชนในการกักตัวอยู่บ้าน โดยไม่คิดค่าบริการ รวมถึงจัดทำวิดีโอประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ
          3. การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligent (AI) ได้มีบทบาทในการวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำสูง ซึ่งต่างจากการวินิจฉัยโดยแพทย์ที่ต้องใช้เวลานาน
          4. การบริการขนส่งโลจิสติกส์ หรือ Logistics and Transportation ของภาคเอกชนที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนโดยจัดให้มีพนักงานขับรถรับ-ส่งแก่บุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องเดินทางไปยังเมืองต่างๆ

dpu

          ปฎิเสธไม่ได้ว่าการทำงานของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวอาจจะไม่สามารถบริหารจัดการกับวิกฤตการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนยังคงมีบทบาทสำคัญที่จะนำพาสาธารณรัฐประชาชนจีนก้าวข้ามช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปได้ และผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือนั้น ได้รับความสนใจจากนานาประเทศในเรื่องของการควบคุมสถานการณ์ในประเทศจีน รวมถึงมาตรการต่างๆ นำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการร่วมมือของประเทศจีนสามารถเป็นแบบอย่าง (Role Model) ในการแก้ไขปัญหาในยามวิกฤตภัยเพื่อให้มนุษยชาติหันมาช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่แบ่งเชื้อชาติ สีผิว ไม่แบ่งชนชั้น วรรณะ

 

โดย ดร.ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสายงานวิจัย และพัฒนา Research & Development and Innovation
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์