DPU จัดงานเสวนาวิชาการ “Active Shooter : บทเรียนที่มีต่อกฎหมาย เทคโนโลยี และความปลอดภัยของสาธารณชน”

คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดงานวิชาการ “Active Shooter”  บทเรียนที่มีต่อกฎหมาย เทคโนโลยี และความปลอดภัยของสาธารณชน โดย "ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ณ ห้องประชุม ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการร่วมกันแสวงหาที่แก้ไขที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักกฎหมาย รวมถึงเป็นการให้ความรู้แก่สังคมและสร้างปลอดภัยต่อสาธารณชน เมื่อวันอังคารที่ 14 พฤศจิกายน 2566

เพราะเราช่วยกันสามารถยับยั้งได้...

คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์  DPU ได้จัดเวทีเสวนาในครั้งนี้ โดยวิทยากรพิเศษในการเสวนาครั้งนี้ได้แก่ ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ ผู้อำนวยการโครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภายนอกมากมาย อาทิ กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1  ฯลฯ

ดร.ดาริกา กล่าวถึง วัตถุประสงค์การเสวนาในครั้งนี้ ว่าสืบเนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อเป็นการให้ความรู้แก่สังคมในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจึงได้มีการจัดการเสวนาขึ้นมา โดยเนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับทั้งเรื่อง พ.ร.บ.ตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544, ทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรม, เรื่องของโอกาสในการเข้าถึงอาวุธหรือการกระทำความผิด นอกจากนี้ยังระบุถึงลักษณะของเหตุการณ์ ที่ตัวผู้กระทำความผิดเองมักจะเลือกสถานที่สาธารณะ  ทำให้การป้องกัน แก้ไขปัญหา ต้องอาศัยหลายฝ่ายช่วยกัน นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการแก้ไขกฏหมายการควบคุมอาวุธปืน  นอกจากนี้สำหรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น มีกรณีศึกษาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้วิจัยพบว่า ระบบการจัดการอาคารอัจฉริยะสามารถที่จะช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระบบตรวจจับเหตุการณ์โดยการทำงานของ AI และ การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งหมดนี้ก็เป็นข้อคิดหนึ่งที่ภาควิชาการอาจจะนำมาหารือกันและสื่อสารให้กับภาครัฐเพื่อช่วยกันในการลดปัญหาที่เกิดขึ้น

“สำหรับมหาวิทยาลัย ถือเป็นเรื่องที่เราเห็นความสำคัญจึงสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและงานเสวนาเรื่องนี้วันนี้ เพื่อร่วมกันแสวงหาทางแก้ไข ปรับปรุง เรื่องที่เกี่ยวข้องต่างๆ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักกฎหมาย ฉะนั้นหวังเป็นอย่างยิ่งว่าวันนี้จะแนวทางแก้และทุกคนได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็นทางวิชาการอย่างอิสระ”

ด้าน “ศ.ณรงค์ ใจหาญ” ผู้อำนวยการโครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารกระบวนการยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดประเด็นโดยระบุลักษณะที่บ่งชี้รูปแบบของการกระทำที่เรียกว่า 'Active Shooter'  ว่าหมายถึง ผู้ก่อเหตุที่ใช้อาวุธ ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะ ปืน มีด ฯลฯ โดยไม่มีเป้าหมาย พบคนใดก็ทำร้ายและไม่จำกัดขอบเขต ในการเลือกรูปแบบของผู้ที่เป็นเหยื่อ สาเหตุอาจจะเกิดจากภาวะกดดัน  เช่น ไม่ได้รับความเป็นธรรม ได้รับความผิดหวัง กระทั่งเกิดเป็นแรงจูงใจที่อยากจะระบายความเคียดแค้นในลักษณะของภูเขาไฟระเบิด เพราะไม่สามารถที่จะควบคุมตัวเองได้เหมือนเวลาเราโกรธก็ไปเตะหรือทุบขว้างปาสิ่งของ จึงได้ดำเนินการซึ่งอาจจะมีทั้งการวางแผนหรือไม่มีการวางแผนก็ได้  

นอกจากนี้ใน 'นิยาม' ของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า บางครั้งเป็นผู้ที่กระทำเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามโดยการวิสามัญฆาตกรรม เนื่องจากต้องการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ส่วน 'นิยาม' ของ FBI ให้ความหมายว่า บุคคลตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ร่วมกันฆ่าผู้อื่นหรือพยายามฆ่าผู้อื่นในพื้นที่ที่มีคนอยู่อย่างหนาแน่น  โดยไม่ใช่การป้องกันตนเองหรือการยิงไปยังผู้คนในเรื่องอาชญากรรมหรือขบวนยาเสพติด โดยจากการเก็บสถิติข้อมูลในรอบ 10 ปี ของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในปี 2566 เกิดการกราดยิงเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 50 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 100 ราย บาดเจ็บ 213 ราย ผู้ก่อเหตุถูกหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายจับ 29 ราย ถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรม 7 ราย ถูกพลเมืองดีฆ่า 2 ราย ฆ่าตัวตาย 9 ราย และหลบหนีไปได้ 3 ราย ขณะที่ 'ผู้กระทำความผิด' ส่วนใหญ่มักเป็น 'เพศชาย' ที่ช่วงอายุอยู่ใน 'วัยรุ่น'

ด้านปัจจัยของการกราดยิงสามารถอธิบายได้โดยแบ่งออกเป็น 2 ปัจจัย ได้แก่  'ปัจจัยภายใน' อาทิ ผู้ก่อเหตุมีความผิดปกติทางจิต มีความเปราะบางในบางอารมณ์ มีอาการคลุ้มคลั่งจากยาเสพติด หรือ ต้องการเรียกร้องความสนใจจากสังคม ซึ่งจะแตกต่างจากผู้กระทำความผิดฐานฆ่าคนที่มักจะมีเหตุผลจูงใจในการโกรธแค้นหรือขัดผลประโยชน์ หรือการก่อการร้ายที่หวังผลให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนกและต่อรองกับรัฐบาล

'ปัจจัยภายนอก' อาทิ การสะสมจากการถูกสังคม องค์กร หรือครอบครัวและชุมชน Bully หรือเอารัดเอาเปรียบ กดดัน ก็ยังก่อให้เกิดแรงกระตุ้นในการก่อเหตุ รวมไปถึงกระทั่งการมีสภาวะจิตที่หวาดระแวง การไม่ได้รับการเลื่อนขั้นหรือค่าตอบแทนที่ได้รับไม่เพียงพอก็ทำให้คนๆ หนึ่ง มีความรู้สึกว่าน้อยเนื้อต่ำใจและไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไร จึงทำให้ผู้ก่อเหตุเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจในการป้องกันมาเป็นโต้ตอบ

“จุดที่อยากจะเน้นซึ่งตรงกันกับงานวิจัยหลายๆ ประเทศคือว่า คนโดยทั่วไปเวลาคับแค้นส่วนตัวจะไประบายโดยไม่ใช้อาวุธปืนในการก่อเหตุ แต่จะใช้สิ่งที่อยู่รอบตัว เช่น เตะ ทุบ ฯลฯ แต่คนที่มีทักษะหรือฝึกฝนทางด้านการใช้ปืน จะใช้ปืนในการก่อเหตุ  ดังนั้น  ปัจจัยเหล่านี้ที่ควรมีมาตรการในการป้องกันและตัดโอกาส”  โดยมีสองจุดที่ควรสังเกตต่อยอดเข้าไปคือ

1.ความถนัดในการใช้ปืน โดยดูในเรื่องของการสถานที่ฝึกและโรงเรียนสอนที่มีมากมายจะทำอย่างไร การมีอาวุธปืนในการครอบครอง การพกพาไปในเมือง ซึ่ง พ.ร.บ.อาวุธปืน ที่มีไว้แล้ว   หรือการที่ข้อมูลบอกว่าดูวิดีโอสามารถที่จะฝึกการใช้อาวุธได้เหมือนกัน  

2.ครอบครัวและชุมชน  จากการศึกษาทางด้านจิตวิทยาบอกว่า ถ้าเราสามารถดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วยความอบอุ่น ความรัก ความเอื้ออาทร จะทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อโลก ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่เป็นการสกัดกั้นเหตุได้ การมองโลกในแง่ดีสร้างได้ในช่วงวัย 1-5 ขวบ นอกเหนือไปจากเรื่องการดูแลอาหาร การให้การศึกษาในการพัฒนา EQ และ IQ รวมไปถึงโรงเรียน สถานที่ทำงานต้องคอยสอดส่องดูแลว่าเด็กถูกกดขี่อะไรบ้าง  

แนวโน้มอาจยกระดับความรุนแรงเป็นGangster  

นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน เสริมถึง แนวโน้มประเทศไทยในเด็กและเยาวชนมีการทำผิดที่มีความรุนแรงมากขึ้นในเด็กที่อายุต่ำลง โดยในปี 2566 จากข้อมูลกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทั่วประเทศ จำแนกเด็กที่กระทำความผิดตามช่วงอายุตั้งแต่ 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี มีจำนวนร้อยละ 38.4  ส่วนเด็กที่อายุเกิน 15 ปี แต่ไม่เกิน 18 ปี จำนวนร้อยละ 61.6  ขณะที่เมื่อดูลึกลงไปดูลักษณะการอยู่อาศัยของครอบครัวพบว่า 'เด็กที่กระทำความผิด' ร้อยละ 64.62  มาจากครอบครัวแตกแยกที่ไม่อบอุ่น อาศัยอยู่กับพ่อหรือแม่ ปู่ ย่า  ตา ยาย หรือบุคคลอื่น ทำให้ไม่ได้รับการเอาใจใส่จากคนในครอบครัวเพียงพอ รวมไปถึงการที่เด็กอยู่นอกระบบการศึกษาก็พบว่ามีการกระทำความผิดที่ค่อนข้างมากกว่าเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษา เมื่อเทียบกับสัดส่วนของประชากร

“ยุคนี้ถือเป็นเรื่องที่ยาก ที่ครอบครัวจะช่วยกันดูแลแก้ไข  เด็กและเยาวชนที่เป็นวัยรุ่น จะไม่ค่อยเชื่อฟังพ่อ แม่ผู้ปกครองหรือบุคคลใกล้ชิด เด็กๆมักเชื่อเพื่อนมากกว่าเพราะว่า ต้องยอมรับว่าในครอบครัวมีการพูดคุยกันน้อยลง อย่างถามว่าลูกกลับมาบ้าน ได้คุยกับเขาไหม ต่างคนต่างล็อกประตูอยู่ในโลกโซเชียลของตัวเอง ผมไม่แน่ใจว่าพ่อแม่กี่คนที่เข้านอนแล้วยังไม่รู้ว่าลูกยังอยู่บ้านหรือไม่  นอกจากนี้หากพ่อแม่มีความคาดหวังสูง ก็อาจจะเป็นแรงบีบคั้นทำให้การแสดงออกและพฤติกรรมของลูกมีอาการผิดปกติหรือเบี่ยงเบนได้”  

ในปัจจุบันในสถานพินิจฯ ดูแลเด็กและเยาวชนที่มีอาการจิตเวชมากขึ้น เนื่องจากความผิดปกติจากพันธุกรรมและการได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสมหรือถูกกระทำรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ เด็กฯส่วนใหญ่ที่กระทำความผิดส่วนใหญ่เป็นเหยื่อมาก่อน  และมีเด็กและเยาชนที่อยู่ในสังคมปัจจุบันที่ยังไม่ก่อเหตุอีกไม่น้อย  ปัญหาคือคนไทยไม่นิยมไปพบจิตแพทย์ หรือปรึกษานักจิตวิทยา ซึ่งเป็นปัญหาเชิงทัศนคติที่ใหญ่มาก  การที่ปล่อยประละเลยส่งผลให้เกิดเหตุร้ายตามมา และจะยากที่จะเยียวยา นอกจากนี้บางครั้งผู้ใหญ่ทำความผิดคนเดียวไม่พอยังพาลูกพาหลานไปกระทำความผิดด้วย

นายโกมล ได้เปิดเผยต่อว่า   การกระทำผิดของเด็กและเยาวชนมีคดีที่สะท้อนถึงการใช้ความรุนแรงโดยการใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิดเพิ่มมาขึ้นทุกปี อันสะท้อนให้เห็นว่าการมีและครอบครองอาวุธปืนทำให้ระดับดีกรีความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกรณี  “Active Shooter” ดังนั้นรัฐจึงต้องมีการกลไกในการหยุดยั้งที่มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญในปัจจุบันเด็กและเยาชนยังมีแนวโน้มพัฒนาจากการกระทำผิดจากคนเดียวมาเป็นการรวมกลุ่มรวมแก๊งกันมากขึ้น” ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่ชิวิตและทรัพย์สินมากขึ้นตามมา

ปัจจุบันที่ได้มีการปรับแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ.2565 แก้ไขจากเดิมที่บัญญัติให้เด็กอายุไม่เกิน 10 ปี กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ เป็นอายุไม่เกิน 12 ปี เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล  พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฉบับปัจจุบันได้ใช้มาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด' เช่น มาตรา 86, มาตรา90 และมาตรา 132 วรรค1  ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมาในช่วง3 ปี พบว่า การทำผิดซ้ำของเด็กฯลดลงและมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น  

“เด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดและเข้าสู่สถานพินิจฯ เจ้าหน้าที่จะต้องทำการสอบถามก่อนทุกครั้งว่ามีคู่กรณี หรืออริอยู่ในที่ควบคุมเดียวกันด้วยหรือไม่เพื่อป้องกันการก่อเหตุทะเลาะวิวาทในที่ควบคุม เด็กฯที่อยู่ในสถานพินิจฯจะได้รับการแก้ใขฟื้นฟูทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจด้วยโปรแกรมในการบำบัด การศึกษาและการประกอบอาชีพส่งเสริมความก้าวหน้า ที่สำคัญที่เราสอนให้เด็กรู้จักคิดการวางแผนชีวิตและรู้จักใช้ชีวิตให้เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ที่ออกจากสถานพินิจไป ไม่ได้กระทำผิดซ้ำ หลายคนประสบความสำเร็จและมีอาชีพเป็นหลักแหล่งเช่น  รับราชการทหาร เป็นพนักงานในสถานประกอบการ  โรงงานอุตสาหกรรม ประกอบอาชีพส่วนตัว ศึกษาต่อ  เป็นต้น

“เด็กหลายคนที่อยู่ข้างนอกไม่มีโอกาสเหมือนกับที่เด็กในสถานพินิจฯได้รับ เคยถามเด็กว่าอยู่บ้านใครเคยได้กินข้าวครบ 3 มื้อไหม ไม่มีแม้แต่คนเดียว เพราะตื่นสายไม่มีใครอยู่บ้านเลยเวลาอาหาร บางคนก็เล่นเกมจนลืม บางคนก็เสพยา เด็กที่อยู่กับเรา 3 เดือนน้ำหนักขึ้น 3-5 กิโลกรัมทุกคน กินอิ่ม นอนหลับ ได้เรียนหนังสือ การที่พ่อแม่บางคนไม่ประกันตัวเด็ก   เพราะอยู่บ้านพ่อแม่เอาไม่อยู่ หลายคนคิดว่าสถานพินิจเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่ผมกลับมองว่าเป็นโอกาสที่ดีกว่าเด็กที่อยู่ข้างนอกแล้วไม่มีอนาคต ไม่มีความหวัง แม้แต่ข้าวจะกินสักมื้อยัง ไม่มีคนดูแลที่จะกอดหรือให้ความอบอุ่นสักครั้ง   เด็กที่ผ่านสถานพินิจฯจะถูกลบประวัติการกระทำความผิดทุกราย สามารถรับราชการได้โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่เอาอดีตมาเป็นตัวกำหนด คนเรามีโอกาสผิดพลาดกันได้ ไม่เคยไม่มีใครเคยทำผิดกฎหมาย การช่วยเหลือดูแลเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าตราบใดสังคมมองเด็กชั่ว-เลว ก็จะเป็นสิ่งที่สะท้อนตีคืนเรามาทันที”

“การเล่นหรือติดเกมส์ของเด็กฯ ไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงในการกระทำความผิด เพราะจากรายงานวิจัยได้ศึกษาวิจัยทั่วโลก การกราดยิงไม่ได้เกิดจากเกมส์เป็นสาเหตุหลักอย่างที่หลายคนออกมาพูด แต่เกมส์หรือวิดีโอเกมส์เป็นปัจจัยเอื้อต่อการมีทักษะในการใช้อาวุธ และ จดจำสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อเลียนแบบและนำมาจัดการชีวิตในเวลาวิกฤตของเขาได้หลังก่อเหตุ แต่ก็ต้องยอมรับว่าพบ เด็กที่ใช้ความรุนแรงส่วนหนึ่งก็มาจากการเล่นเกมส์ที่มีลักษณะต่อสู้แย่งชิง บางคนเล่นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ อย่างที่เห็นกันเวลาพ่อแม่ดึงโทรศัพท์ลูก ลูกจะทำลายข้าวของหรือบุคคลในบ้าน แสดงว่ามีพฤติกรรมเสพติดอย่างรุนแรงที่พ่อแม่ควรให้ความสำคัญและใส่ใจดูแล”   

อุดช่องโหว่ผู้ได้รับผลกระทบ 

ด้าน “พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ” อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกเล่า ในภาคส่วนของการรับมือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมในมุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน มีหลายกรณีที่กว่าจะตามตัวจับได้ แต่ทว่า...วันนี้ส่งศาล พรุ่งนี้ถูกปล่อยตัวออกมา

“มีหลายกรณีที่ยังเป็นเด็ก เลยไม่โดนลงโทษ แต่ท่านเห็นไหมว่าผลที่ออกมาสร้างความเจ็บช้ำให้คนที่อยู่ข้างหลังมากแค่ไหน ต่างจากที่ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ดูพฤติกรรมของการก่อเหตุ ถ้ามีพฤติกรรมรุนแรงโหดเหี้ยมทารุณถึงเป็นเด็กก็ต้องลงโทษ ทุกวันนี้กฎหมายไม่เคยช่วยคนบริสุทธิ์ ขัดต่อความรู้สึกประชาชน อยากให้นักกฎหมายตรองดู เพราะตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมายและต้องใช้ความเที่ยงธรรมตามที่กฎหมายกำหนด”

พล.ต.ต.วิชัย  ระบุเสริมอีกว่า จากประสบการณ์พบช่องโหว่ของข้อบกพร่องในเรื่องของการ 'แจ้งเตือนภัย' ที่ยังน้อย โดยภาครัฐควรสนับสนุนส่งเสริมและต้องประสานงานกับภาคเอกชน ศูนย์การค้า ศูนย์การประชุม ให้หมั่นซ้อมรับมือให้มากกว่าเหตุเพลิงไหม้ ในเรื่องของการก่อการร้ายกรณีต่างๆ สมัยเป็นรองผู้บัญชาการนครบาลได้รับเชิญไปดูงานเรื่องภัยพิบัติ การก่อการร้าย การก่อเหตุในโรงเรียน สถานที่ราชการ ห้างร้านค้าต่างๆ เวลาเกิดเหตุการณ์แบบนี้ควร 1.หนีแบบมีสติ และทิ้งของให้ไกลจากที่เกิดเหตุมากที่สุด ถ้าช่วยเหลือคนอื่นได้ก็ช่วยเหลือ 2.ซ่อนให้มิดชิดและในที่ๆ แข็งแรงและต้องเงียบที่สุด ที่สำคัญอย่าใช้โทรศัพท์เพื่อป้องกันการถูกพบตัว 3.คือการสู้ ซึ่งเป็นวิธีสุดท้าย เพราะไม่รู้ว่าคนร้ายมีจำนวนเท่าไร เป็นไปตามที่เรารู้หรือไม่   แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องสู้โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยชินในกิจวัตรหยิบใช้หรือจากตัวอย่างหนัง

“ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องไปสอนวิธีสังเกตการณ์และประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะสมัยนี้คนมาประเทศไทยหลากหลายเชื้อชาติ ภาษาก็ต้องมีหลากหลาย ทั้งภาษาจีน-อังกฤษ-ญี่ปุ่น อีกอย่างหน้าที่ของสถานประกอบการ คือควรจะมีการใช้เสียงที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันในการแจ้งเตือนภัย ถ้าไฟไหม้เสียงดังแบบนี้ กราดยิงใช้แบบนี้ และต้องมีมาตรการตรวจทางเข้า โดยเจ้าหน้าที่ทั้งชายและหญิงในทุกประตูทางเข้าสถานประกอบการ ซึ่งเป็นการป้องปรามที่ได้ผล คนร้ายจะลงมือแต่พอเห็นแบบนั้น เป็นผมก็ถอย”

“ที่สำคัญต้องรีบแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่เพื่อจัดกำลังดูแล  และ ช่วยกันระบุที่เกิดเหตุกับตำแหน่งให้ชัดเจน เพื่อแจ้งข่าวผู้คน โดยไม่ต้องกลัวเรื่องของการถูกฟ้องร้องอย่างที่เกิดขึ้นวันนั้นบอกว่าห้างดังแห่งหนึ่งย่านสยาม มีตั้งหลายห้าง เรื่องนี้ก็เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน”

ส่วนในเรื่อง ปืน  ปืนในประเทศไทยที่มีมากถึงหลัก 10 กว่าล้านกระบอก เป็นอันดับ1 ของอาเซียนและเป็นลำดับที่ 13 ของโลก  พล.ต.ต.วิชัย  ได้ตั้งคำถามถึงประเทศไทย ว่าควรจะแก้ไขปัญหานี้ได้แล้วหรือยัง

“พ.ร.บ.อาวุธปืน  2490 ยังไม่สามารถแก้ไขหรือยกเลิกอะไรได้ เพราะว่าเจ้าของร้านปืนอาจมีอิทธิพลสามารถผลักดันกับเจ้าหน้าที่รัฐได้  จึงทำให้จำนวนลดน้อยลงได้ยาก แถมยังเพิ่มปืนสวัสดิการอีก และยังมี Blank Gun ที่สามารถสั่งซื้อกันได้ทางออนไลน์ สามารถดัดแปลงลำกล้องใช้เป็นอาวุธปืนยิงประหัตประหารกัน รัฐต้องเข้ามาดูแลจำกัดจำนวน แต่เราไม่และเราก็ไม่เคยตรวจสอบผู้ใช้เลยว่าเป็นโรคทางจิตเวชไหม เคยก่อคดีไหม เราไม่ได้ทำ ให้ผู้ใหญ่บ้านลงนาม ยื่นนายอำเภอก็ได้ใบอนุญาต คนออกกฏไม่ได้มาดู ต่างจากสิงคโปร์หรือมาเลเซีย แค่มีกระสุนเม็ดเดียว อาจจะโดนประหารชีวิต”

“อย่างนั้นเรามาดูต่อเรื่อง ปัจจัยเอื้อในการใช้อาวุธ เช่น การพกพา ต้องไม่อนุญาตให้พกพาปืนไปในที่สาธารณะ ยกเว้นเจ้าที่รัฐที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ นักกีฬาที่ไปซ้อมแข่งขัน ถ้าเจอเป็นจับติดคุก ต้องใช้ยาแรง   เพราะถ้าพกออกมาข้างนอกไม่ได้มันก็จะเกิดความสูญเสียน้อย” 

แง่มุมดังกล่าว “ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ” ได้เสริมว่า ในส่วนแง่มุมของกฎหมายทั้งอาญาและแพ่ง ได้มีการขยับปรับจากเดิม กระบวนการพิจารณาคดีอาญาที่มองเรื่องของการดูแล จะทำอย่างไรที่จะเอาผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ถูกปรับปรุงอย่างมากหลังรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มองผู้กระทำความผิดจะต้องถูกฟ้องคดีอาญา แต่ที่เห็นได้ชัดมากที่สุดคือ กรณีผู้ที่เสียหายจะต้องได้รับการเยียวยาที่เหมาะสม คือ 'พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย' ในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตร่างกายและเพศ ส่วนอีกข้อที่เพิ่มเติมเข้ามาในฉบับที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และความตาย โดยมีข้อดีที่เพิ่มขึ้นหลายอย่าง เช่น ให้ผู้เสียหายสามารถที่จะขอเข้ามาในคำฟ้องร้องส่วนที่เป็นของอัยการ, ไม่ต้องสืบเรื่องละเมิดเอง สืบแต่ผู้เสียหายเท่านั้น และถ้าไม่มีทนายความก็เติมเข้ามาให้ นอกจากนี้ก็ขยายระยะเวลาในการใช้สิทธิจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ตามมาตรฐานประเทศอังกฤษและนิวซีแลนด์ โดยกรมคุ้มครองสิทธิเป็นเจ้าภาพและให้ทางตำรวจช่วยแจ้งสิทธิให้ด้วยตอนแจ้งความแบบประเทศญี่ปุ่น

“ถ้าเสียชีวิตญาติพี่น้องสามารถขอได้เป็นค่าทำศพ ค่าขาดประโยชน์และค่าอะไรต่างๆ ถ้าบาดเจ็บก่อนเสียชีวิตก็มีค่ารักษาพยาบาล และถ้าบาดเจ็บอย่างเดียวมีค่ารักษาพยาบาล ซึ่งจุดที่ผมจะนำเสนอคือ เรามีการชดเชยในเรื่องของค่าตกใจไหม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของตัวเงิน แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่บอกว่าญาติพี่น้องเขามีความรู้สึกในการสูญเสียคนในครอบครัว”  

“ในต่างประเทศทั้งอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เขาให้ความสำคัญกับตรงนี้ ทั้งมีโปรแกรมช่วยเหลือ Victim compensation   และ พบว่ามันมีกลไกคนที่ตกเป็นผู้เสียหายหรือได้รับผลกระทบ ไม่รู้ว่าจะไปใช้สิทธิยังไงต่อสิ่งที่กฎหมายมี เขาจึงจัดตั้งทั้งกรุ๊ปของอาสาสมัครและศูนย์ที่ช่วยเหลือแนะนำขั้นตอน เมื่อเกิดเหตุขณะนี้ๆ ควรจัดการชีวิตอย่างไร ต้องไปขอความกรุณาจากจิตแพทย์หรือแพทย์ ก็ติดต่อประสานงานให้”

ท้ายที่สุด ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ บอกอีกว่า ตอนนี้ แผนปฏิรูปกฎหมายโดยกรมคุ้มครองสิทธิถือตัวร่างพ.ร.บ. ที่จะต้องเพิ่มเข้าไปเสนอ ครม. โดยกำลังปรับปรุงเปรียบเทียบกับค่าประกันต่างๆ อยู่ เนื่องจากพ.ร.บ.ที่ออกมาเป็นกฎกระทรวงแก้เมื่อปี 2559 ที่กำหนดไว้ว่า

1.ค่ารักษาพยาบาลจ่ายจริงไม่เกิน 4 หมื่นบาท

2.ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพและจิตใจไม่เกิน 2 หมื่นบาท

3.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้อัตราจ้างขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่เกิดเหตุ

4.เสียชีวิตตั้งแต่ 3 หมื่น จนถึง 1 แสนบาท ค่าจัดการศพไม่เกิน 2 หมื่นบาท

5.ค่าเดินทางไปศาลเพื่อเบิกความต่างๆ หากเป็นผู้ยากไร้สามารถเข้ารับสิทธิในกองทุนได้ทันที

“ปัจจุบันเราก็เทียบได้กับกฎหมายพิเศษเหมือนที่ประเทศนิวซีแลนด์ แต่ยังต่างตรงที่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ยังไม่มีความช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการ ทั้งๆ ที่เขาก็คือเหยื่อของอาชญากรรมเหมือนกัน รายได้ก็หายไป หากจะเข้าไปฟื้นคืนความมั่นใจ ต้องทำให้ลูกค้ามาซื้อของและเที่ยวได้”