CIBA DPU ผนึกกำลังสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ติวเข้ม “Rookie นักบัญชีรุ่นใหม่” เติมศักยภาพการฝึกปฏิบัติงานสุดฝีมือ 2566
วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) โดยหลักสูตรการบัญชียุคดิจิทัล จัดอบรมโครงการเตรียมความพร้อม CWIE ครั้งที่ 2 “Rookie Accountant Camp” เพื่อปูทางให้นักศึกษาสามารถ “คิด-วิเคราะห์-แก้ปัญหา” ผนวกทักษะด้านวิชาการควบคู่การใช้เทคโนโลยีในการทำงานได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมมือกับสมาคมสำนักงานบัญชีไทย (TAFA) และ SCG (โดย คุณวัทธยา พรพิพัฒน์กุล Head of People and Business Development สำนักงานงานบัญชีกลาง) เป็นหลักสูตรระยะเวลา 12ชั่วโมง อบรม ณ ห้องประชุมอาคารสนม สุทธิพิทักษ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)
อาจารย์ ดร.อรัญญา นาคหล่อ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนานักวิชาชีพบัญชีและอาจารย์ประจำหลักสูตรบัญชียุคดิจิทัล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า “เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร ล้วนมีการนำเทคโนโลยีทางด้านบัญชีเข้ามาใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น “การติดอาวุธทางด้านวิชาการควบคู่กับเทคโนโลยี” จึงมีความสำคัญมาก ทางหลักสูตรจึงได้จัดโครงการ Pre-CWIE ครั้งที่ 2 Rookie Accountant Camp เพื่อทบทวนทักษะด้านวิชาการ และ การใช้เทคโนโลยี ผนวกกับการใช้กรณีศึกษา จำลองสถานการณ์ที่นักศึกษาอาจต้องพบเจอในการทำงานผ่านกิจกรรม Workshop ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาได้เกิดการคิด-วิเคราะห์-แก้ปัญหา โดยมีทีมวิทยากรจากสมาคมสำนักงานบัญชีไทย (TAFA) และ SCG โดย คุณวัทธยา พรพิพัฒน์กุล Head of People and Business Development สำนักงานงานบัญชีกลาง ร่วมเป็นวิทยากรคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด”
“การเสริมทักษะการเป็น “นักบัญชีดิจิทัล” ให้กับนักศึกษาครั้งนี้โปรแกรมบัญชีดิจิทัล Nexttoเพื่อให้นักศึกษาได้เห็นภาพกระบวนการทางธุรกิจ หรือ Business Process ตั้งแต่การทำงาน “หน้าบ้าน (Front Office)” ถึง “หลังบ้าน (Back Office)” รวมไปถึงการเชื่อมต่อข้อมูลกับภาครัฐ เช่น การยื่นภาษีออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วที่จัดครั้งแรกเราได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีมากๆ จากเดิมที่นักศึกษาจะรู้จักแต่ทฤษฎีพอไปเจอภาคการปฏิบัติงานจริงๆ ก็อาจจะไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นจากตรงไหนจึงจะดีที่สุดในการแก้ปัญหา”
“แคมป์นี้ก็จะช่วยนักศึกษามีความมั่นใจมากยิ่งขึ้นและเวลาปฏิบัติงานก็สามารถปฏิบัติงานได้จริงทันที เพราะเราไม่อยากให้มองนักศึกษาที่ไปฝึกงาน ว่าเป็นแค่การฝึกงาน แต่อยากจะให้มองว่าเป็นการทำงานจริง ซึ่งระยะเวลา 8 เดือนนั้นถือว่ายาวยิ่งกว่า Probation ช่วงทดลองงานเสียอีก นั่นหมายความว่าหากผ่านไปได้ เขาสามารถที่จะทำงานได้เลย ซึ่งโดยส่วนใหญ่บัณฑิต CIBA สถานประกอบการจะรับเข้าทำงานพร้อมเซ็นสัญญาต่อในทันทีหลังจบสหกิจศึกษา CWIE หรืออย่างนักศึกษาบางคนไปทำงานได้แค่ 1 เดือน ก็ได้รับการเซ็นสัญญาเป็นพนักงานประจำเลย”
โดยระยะเวลา 2 วัน ตลอด 12 ชม. ของโครงการฯ นี้จะช่วย “ลับคม” ให้นักศึกษาเกิดความชำนาญมากยิ่งขึ้นและพร้อมปรับจากโหมด “นักศึกษา” สู่โลกการทำงานจริง โดยในการอบรมครั้งนี้ เน้นในสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและต้องคำนึงถึงในการทำงานด้านบัญชี ในวันแรกอันได้แก่ 1. Mindset at Work หรือหลักคิดสมัยใหม่ในการทำงาน 2.จรรยาบรรณและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนักบัญชี 3.การจดทะเบียนนิติบุคคลและประกันสังคม 4.การจัดทำและการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 5.การทำงานร่วมกับผู้อื่นผ่านกิจกรรม Workshop ส่วนในวันที่สองของการอบรม นักศึกษาจะได้รับ คือ 1.Cloud Accounting Software 2.แนวปฏิบัติทางบัญชีและภาษีอากร 3.การคำนวณและการยื่นแบบภาษีอากร 4.การตรวจสอบรายการผิดปกติทางบัญชี 5.กิจกรรม Workshop พร้อมกับมอบใบประกาศนียบัตร (Certificate) ผู้ที่ผ่านการอบรมตามเกณฑ์ที่กำหนด
“ในวันแรกของการอบรมก็จะเริ่มจากการปรับทัศนคติลดความตระหนกและสร้างความตระหนักว่า ต้องปรับจากช่วงวัยนักศึกษาเข้าสู่วัยทำงาน เราก็เลยให้นักศึกษามาลองปรับทัศนคติตัวเองเวลาไปทำงานจะต้องคิดจะต้องเริ่มต้นอย่างไรและการทำงานเป็นทีม จากนั้นเราจะเริ่มการจดจัดตั้งบริษัท การจดจัดตั้งนิติบุคคล ซึ่งตรงนี้ก็จะมีนักศึกษาบางคนฝึกปฏิบัติงาน CWIE แล้วจะต้องไปจดทะเบียนที่กรมการค้าพัฒนาธุรกิจจริงๆ นักศึกษาก็ต้องรู้ว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้างและมีขั้นตอน 1-2-3-4-5”
“นอกจากนี้พี่ๆ วิทยากรทั้ง SCG โดย คุณวัทธยาและ TAFA จะมาถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องประกันสังคมกับกองทุนทดแทน ซึ่งเรื่องตรงนี้ไม่มีในตำราเรียนและหาความรู้ตรงนี้ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะในเรื่องของแนวทางปฏิบัติกับทริคต่างๆ จากนั้นเน้นเรื่องของภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หลังจากนั้นก็เน้นเรื่อง Cloud Accounting Software ตั้งแต่การออกเอกสารหน้าบ้านไปจนขั้นตอนหลังบ้าน เพื่อการบันทึกบัญชี การปิดงบประมาณ การเรียกดูงบเปรียบเทียบ และที่สำคัญเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพที่เราเน้นย้ำมาก เพราะไม่ว่าจะเก่งแค่ไหนก็ตามแต่ มืออาชีพที่ดีต้องมีเรื่องจรรยาบรรณเข้ามาเกี่ยวข้อง”
เช่นเดียวกับ “คุณอัญชลี มณีท่าโพธิ์” นายกสมาคมสำนักงานบัญชีไทย (TAFA) กล่าวเสริมว่า ในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคดิจิทัลนั้น ไม่ใช่เพียงแค่มีความพร้อมในเรื่ององค์ความรู้ต่างๆ ในการปฏิบัติงานเท่านั้น แล้วจะเพียงพอ แต่ในเรื่องของ “จรรยาบรรณ” สำหรับนักบัญชีก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวดเช่นเดียวกันในการเป็นนักบัญชีวิชาชีพ
“การมีความซื่อสัตย์ มีความโปร่งใส รู้จักการรักษาความลับของลูกค้า มีความเที่ยงธรรม มีความอิสระ มีพฤติกรรมทางวิชาชีพที่ดีควบคู่ความรู้ทางการปฏิบัติงานวิชาชีพ ล้วนแล้วแต่สำคัญมาก ซึ่งจะเป็นส่วนประกอบสำคัญของการออกงบการเงิน เรื่องงบกำไรขาดทุน เรื่องงบแสดงฐานะการเงิน ฯลฯ ถ้ามีคุณธรรมและจริยธรรม มีจรรยาบรรณ เราก็จะแสดงผลไปเป็นตามข้อเท็จจริงตามมาตรฐาน แต่ถ้าเราขาดคุณธรรม เปลี่ยนแปลงตัวเลข ปิดบังในบางเรื่องหรือไม่เก็บความลับของลูกค้า อันนั้นไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้สร้างความเข้าใจผิดว่ากิจการจะมีกำไร กิจการจะเติบโตก้าวหน้า กรณีดังกล่าวยิ่งถ้าเป็นในส่วนของบริษัทมหาชน กิจการสาธารณะก็จะทำให้เกิดความเสียหายมากมายเป็นวงกว้างต่อผู้ที่ถือหุ้น-ผู้ที่ร่วมลงทุน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นยิ่งของนักศึกษาด้านบัญชีที่จะต้องมีการอบรมให้เขาได้รับรู้”
ดร.อรัญญา ย้ำทิ้งท้ายถึงสิ่งที่นักศึกษาจะได้รับหลังโครงการฯ คือ “Re-skill” ทักษะอนาคตเพื่อทำความเข้าใจลักษณะธุรกิจที่มีการดำเนินงานเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต นอกจาก “Hard Skills” ทักษะด้านความรู้ เกี่ยวกับระบบสารสนเทศทางการบัญชีและเทคโนโลยีแล้ว ยังต้องมี “Soft Skills” ทักษะด้านอารมณ์ ทัศนคติ การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะนำไปสู่ความยั่งยืนต่อไป