เปิดพฤติกรรมชาว Gen Z เป็น Digital Native แสวงหาโอกาส ชอบพึ่งพาตัวเอง

ทำความเข้าใจ Generation Z หรือ Gen Z  คนรุ่นใหม่ที่เป็นคนยุคดิจิทัลโดยกำเนิดชอบเป็น “นักแสวงหาโอกาส ที่ใช้ความสามารถของตัวเอง และ ต้องการพื้นที่แสดงศักยภาพ”  Gen Z มีความภาคภูมิใจในตัวเองสูง ชอบพึ่งพาตัวเอง มั่นคงด้วยตนเอง ไม่พึ่งพาใคร!!

ด้วยจำนวนประชากร Gen Z ที่มีน้อยกว่ารุ่นพี่ Gen Y แต่เนื่องจากเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัยและบางส่วนก็เติบโตเข้าสู่ช่วงเริ่มวัยทำงานหรือเป็น “First Jobber” ทำให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หรือในทุกๆ มิติ ในทุกประเทศ  ยิ่งทิศทางอนาคตโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล เทคโนโลยี AI แบบเต็มตัว ทักษะสำคัญของคนที่เป็น “Digital Native” ชาวดิจิทัลที่เกิดและเติบโตอยู่กับทุกอย่างที่เป็นดิจิทัลมาโดยตลอด ทำให้ Gen Z เป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังจะเข้ามาขับเคลื่อนทุกภาคส่วน คน Gen Z มีความชินต่อสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร รู้จักการแสวงหาข้อมูลข่าวสารด้วยวิธีการที่เร็วและง่าย อย่างเช่นการใช้ ChatGPT  Looka  SlidesAI  คน Gen Z ก็จะเป็นกลุ่มแรกที่ใช้ (Early Adopters) ทำให้ยิ่งหนุนนำส่งเสริมทักษะของเขาให้ดีขึ้นมากมาย

เช่นเดียวกับด้านความสามารถ ในด้านความต้องการการยอมรับ ประชากรกลุ่ม Gen Z ก็ต้องการ “แสวงหาโอกาสในการแสดงความสามารถและศักยภาพอยู่เสมอ” จนในหลาย ๆ องค์กร ผู้ที่อาวุโสกว่ามักจะปรามาสว่า Gen Z  เพิ่งเริ่มงาน แต่ก็เปลี่ยนงานบ่อย ไม่อด ไม่ทน ไม่รู้จักการแสวงหาความมั่นคงให้ตนเอง ฯลฯ ซึ่งจุดนี้คนที่อยู่ต่าง Generation กันก็จำเป็นต้องเปิดใจรับฟังกันและกัน เข้าใจกันมากขึ้น

“คำว่ามั่นคงไม่ใช่องค์กรเป็นคนพูด ช่วงโควิดระบาดองค์กรใหญ่ ๆ เองก็ปิดกิจการมากมาย หรือเร็วๆนี้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซหลายเจ้าก็ปลดพนักงานหลัก 10,000 คน คือถ้าในวันนี้เราเข้าไปในอินเตอร์เน็ตก็จะพบว่ามีทั้งข่าวรับสมัครงาน กับ ข่าวปลดพนักงาน เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน จำนวนไม่ต่างกันเลย แล้วสรุปแล้วตกลงยังไงกันแน่ หรือเป็นเพราะสิ่งที่องค์กรต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่เขามี อันนี้เราต้องช่วยกันคิด” อาจารย์นิติ มุขยวงศา ผู้ช่วยรองอธิการบดีสายงานกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU)เริ่มต้นเพื่อเปิดประเด็น

“วัฒนธรรมเดิม กฎเก่าและโอกาสใหม่” พาให้มองลบ

ตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดคำปรามาสต่อ Gen z แท้จริงแล้วเกิดจากความไม่ลงตัวกันของหลายปัจจัย ซึ่ง อ.นิติ ได้ระบุว่ามีปัจจัยข้องเกี่ยวด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ 1.วัฒนธรรม 2.กฎระเบียบ 3.โอกาส  

“ปัจจัยที่ 1 เรื่องวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรมีความหลากหลายตามคนแต่ละ Gen มากขึ้น  สมมุติผมเป็นคนตื่นสายมาตลอดชีวิต จะให้ผมไปทำงานเช้าทุกวันก็คงทำไม่ได้ ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเก่งไม่เก่ง หรืองานดีหรือไม่ดี คนกลุ่มนี้ในองค์กรบริษัทด้านโฆษณา การตลาด งานความคิดสร้างสรรค์จะเห็นบ่อย เขาทำงานได้ดีตอนกลางคืน งานเสร็จตามกำหนดและออกมาดีด้วย  แต่วัฒนธรรมเดิมๆ อาจทำให้องค์กรเสียคนเก่งๆไป ซึ่งจริงๆ เราต้องการงานเขา ไม่ได้ต้องการให้เขามาเช้า ปัจจัยที่ 2 เรื่องกฎระเบียบ บางองค์กรมีกฎระเบียบเข้มงวดต้องรูดบัตร ต้องห้ามทำงานเสริม แม้ไปขายของหลักเลิกงานก็ไม่ได้ เพราะกลัวทำงานให้องค์กรได้ไม่เต็มที่ แต่คน Gen Z มองว่าการหารายได้ช่องทางเดียวมันไม่ตอบโจทย์ ถือว่าเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำที่ Gen Z ช่วงอายุน้อยกว่า 25 ปีลงมา จะมีงานรายได้พิเศษ สอนหนังสือ แต่งนิยายออนไลน์ รับจ้างทำกราฟฟิก ขายของออนไลน์  ทำเพจส่วนตัว พวกนี้ยิ่งมีทักษะหลายหลายและชอบเรียนรู้ หากองค์กรไปออกกฎบังคับเขามากๆ เขาก็ลาออก คุณก็จะเสียคนเก่งที่ชอบเรียนรู้ไปจากองค์กรเช่นกัน  สุดท้ายปัจจัยที่ 3 คือเรื่องโอกาส ทุกวันนี้โอกาสต่างๆ ไหลมาที่คนรุ่นใหม่เพราะเรียนรู้ไว และเก่งเรื่องดิจิทัล เป็นที่ต้องการของทุกองค์กร ถ้าองค์กรคุณไม่สามารถตอบโจทย์สองข้อข้างบนได้ ย่อมเสียคนเก่งๆให้กับข้อเสนอที่ดีกว่า ทั้งหมดคือถ้าองค์กรไม่ปรับตัวหาคนยุคใหม่ที่มีศักยภาพ องค์กรของคุณจะเหลือแต่พนักงานที่ไม่มีที่ไป ฟังดูแรงนะครับ แต่เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ ผมเชื่อว่าไม่ต้องถึงขนาดหละหลวมไปทั้งหมด แต่มันคือการหาจุดที่เหมาะสมของทุกฝ่าย”    

“ซึ่งสิ่งที่พอจะทำได้ในตอนนี้ คือ คนทุก Gen ควรจะหันมามองกัน มาแลกเปลี่ยนแนวความคิดซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดการ “มองมุมใหม่” เกิดความยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม กฏระเบียบ ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน จะทำให้ทุกคนในองค์กรก้าวเดินไปด้วยกันได้  ต้องอย่าลืมว่า Gen Z ในวันนี้ก็คือผู้นำองค์กรในยุคถัดไปที่ต้องมารับช่วงต่อจากคน Gen ก่อนหน้า หากไม่ปรับ ไม่เตรียมเอาไว้ ทุกสิ่งอย่างที่องค์กรเริ่มมาก็อาจจะต้องหยุดชะงัก หรือหมดอายุลงไปตามกาลเวลา”  อ.นิติ กล่าวต่อไป

“โลกยุคนี้ต้องเปิดใจยอมรับว่าเปลี่ยนแปลงไวจนน่าตกใจ หลังโควิดผ่านไปหลายองค์กรได้เห็นมุมใหม่ ๆ หลายมิติ เช่น ออฟฟิสจำเป็นต้องมีแค่ไหน โต๊ะทำงานแบบถาวรต้องมีให้ทุกคนหรือไม่  แอปพลิเคชั่นเพื่อการทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดผลดีมากกว่าการมาประชุมกัน หรือ องค์กรใหญ่ๆ รู้จักการส่งต่องานให้กับกลุ่มฟรีแลนซ์มากขึ้น   อย่างน้องๆ นักศึกษามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก็สามารถรับงานฟรีแลนซ์ผ่าน Fastwork.co  เขาสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ได้รายได้ตั้งแต่ระหว่างเรียน ไปๆมาๆ มันกลับกัน งานของคนรุ่นใหม่กลับสร้างความมั่นคงได้มากกว่างานประจำเสียอีก มั่นคงในที่นี้หมายถึงคนกลุ่มนี้ต่างหากที่กลับเอาตัวรอดในสังคมได้ด้วยตัวเองไม่ว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร”

“ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย คำตอบหรือคำถามที่ควรถามถึง Gen Z คือเราจะช่วยทำอย่างไรให้เขามีสกิลการเรียนรู้ตลอดเวลา มีทักษะใหม่ๆที่หลากหลาย รองรับกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  ทำอย่างไรถึงจะดึงศักยภาพของเขาออกมาให้เต็มที่ที่สุดต่างหาก อย่างการทำงานแบบคนรุ่นใหม่ที่ทำทั้งแบบหลายจ๊อบ หรือ ทำแบบฟรีแลนซ์ ทำให้คนรุ่นใหม่ได้ทักษะใหม่ๆ เกิดการพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เราต้องดีใจที่คนรุ่นใหม่ชอบเจออะไรใหม่ๆ พัฒนาตนเอง  จริงๆแล้วเราต้องกังวลกับพนักงานที่หยุดพัฒนาตัวเองต่างหากเพราะนั่นคือปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในองค์กรคุณแล้ว”

เพราะเขาอยาก “แสดงศักยภาพ” และ “ความสามารถ”

“ด้วยความเป็น Digital Native จึงสามารถเข้าถึงความรู้และรู้จักการใช้ความสามารถผ่านดิจิทัลและ AI ทำให้คน Gen Z  มีความมั่นใจในตัวเองสูงมาก พอเวลาเข้าสู่ช่วงการทำงานของชีวิตก็ต้องการพื้นที่แสดงออกโชว์ทักษะความสามารถและปลดปล่อยแสดงศักยภาพออกมาเพื่อความก้าวหน้าหรือมุ่งเป้าประสงค์ที่ต้องการ ซึ่งต่างจากคน Gen Y ที่สมัยก่อนมักจะมีคำถามที่นิยมถามกันในเรื่องจะทำงานองค์กรใหญ่ที่มั่นคง หรือ จะทำงานส่วนตัวหรือในองค์กรเล็กที่ได้เป็นผู้จัดการไวๆ จะเห็นได้ว่า เรียกได้ว่า Gen Z  เลือกพื้นที่ที่มีโอกาสได้แสดงออก มากกว่าอยู่เพื่อเงิน”

“Gen Z   เขาเกิดในยุคที่จะหาความรู้ได้ด้วยตนเองและมีความสามารถหลากหลาย เรียนรู้อะไรใหม่ๆก็ได้ง่าย สิ่งที่เขาต้องการจึงคือ  พื้นที่ที่เขาสามารถทำอะไรของตนเอง แสดงศักยภาพออกมา แต่องค์กรแบบเดิมมักจะไม่มีพื้นที่แสดงศักยภาพมากนัก และยังมีระบบอาวุโสคลุมไว้อยู่ หรือ บางองค์กรก็มีการแยกแผนก แยกฝ่ายชัดเจน ทำให้เวลาคน Gen Z  อยากจะเสนออะไรใหม่ๆ ข้ามแผนก ข้ามฝ่าย ก็ติดขัดไปหมด ทำให้เขาไม่สามารถแสดงความสามารถของเขาได้ องค์กรก็ไม่ได้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของเขา” 

อ.นิติ ยกตัวอย่างให้ฟังต่อ  “เช่น Gen Z  บางคนอยู่แผนกบัญชีหน้าที่คือทำบัญชี แต่องค์กรหารู้ไม่เขาวิเคราะห์ข้อมูลเก่งมาก นอกจากทำตัวเลข เขาขายของออนไลน์ด้วยตัวเองอยู่ที่บ้าน เขาอยากนำเสนอฝ่ายการตลาดว่า Product ตัวไหนมีสัญญาณกำลังเติบโต หรือกำลังมาแรง เขาอยากทำมากกว่าแค่บัญชี เขาอยากเอาตัวเลขทางบัญชีและทางการเงินมาใส่ Dashboard เพื่อจับตาวิเคราะห์ตลาด ซี่งเขามีแวว จะกลายเป็น Business Analyst หรือ Data Analyst ก็ยังได้ขอแค่เราสนับสนุนเค้ามากพอ แต่หากองค์กรของเขาไม่มีพื้นที่ให้พนักงานคนนี้แสดงศักยภาพ เขาก็จะไม่ได้รับการเติมเต็ม และองค์กรก็ไม่ได้ใช้ศักยภาพของเขาอย่างเต็มที่ ดังนั้นหากเราปรับองค์กรให้ทำงานรูปแบบใหม่ มีการทำงานร่วมกัน มีการแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้ ก็จะทำให้ Gen Z ได้แสดงศักยภาพตัวเองที่มีอยู่” 

“ทางมหาวิทยาลัยเราจึงเน้นการปลูกฝัง DNA ที่นอกจากเน้นการสร้างทักษะ Soft Skills เน้นเรื่องของทักษะผู้ประกอบการ เรื่องการเรียนรู้ในห้องและนอกห้อง เช่นสอนให้รู้จักการเป็น Prompt Engineer ใช้ AI ให้เป็นประโยชน์สูงสุด  เพราะไม่ใช่แค่ว่าเขาจะเก่งเรื่องใดหนึ่งแล้วจะอยู่รอดในยุคนี้ เรามองว่าเรียนเก่งด้วยแต่ก็ต้องอยู่รอดด้วย  มีทักษะ Soft Skills เก่งสื่อสาร เก่งสร้างสรรค์ ทำงานกับคนต่างวัยได้ ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รับฟังผู้อื่น เจรจาต่อรองเป็น บริหารเวลาได้ อันนี้คือสิ่งที่สำคัญสิ่งนี้จะพัฒนาไปสู่ตัวนักศึกษา Gen Z โดยตรง เพราะความรู้จากอาจารย์ในห้องเรียนมันน้อยเกินไป เราต้องสอนให้เขาไปเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาจะมั่นคงในอนาคต” 

ทักษะอะไรที่ควรมี และ ‘งานใหม่มาแรง’ คือสายไหน

เรื่องของ “Growth Mindset” หรือ วิธีคิดที่เชื่อว่าทักษะและความรู้ความสามารถของเราสามารถพัฒนาได้ เติบโตไปต่อได้ จำเป็นอย่างยิ่งยวดในการเอาตัวรอดและสามารถที่จะช่วยพัฒนาองค์กรแห่งอนาคต คนรุ่นใหม่ Gen Z เองต้องเริ่มที่คิดแบบ Growth Mindset เป็นอันดับแรก สองคือ หาโอกาสใหม่ๆ หางานใหม่ๆ มาลองทำสร้างทักษะ และประสบการณ์ ไม่ว่าจะ “อาชีพเสริม” หรือ “งานอดิเรก” ก็ควรต้องมี หลังจากนั้นจะได้หาความรู้เรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอยู่เสมอ อันนี้คือความมั่นคงที่แท้จริงที่เป็นหลักประกันความอยู่รอดของ Gen Z

“คนที่มีทักษะที่หลากหลายยุคหน้ารับรองไปได้ไกล เป็นภูมิคุ้มกันความมั่นคง ลองคิดดูง่ายๆ หากเราเดิมมีทักษะพิมพ์ดีดเก่งมากๆ 100 คำต่อนาทีแต่ทำได้อย่างเดียว ทักษะนี้อาจจะใช้ไม่ได้อีกแล้วในยุคต่อจากนี้ เพราะมีอย่างอื่นมาทดแทนไปแล้ว แต่ถ้าเรามีทักษะสำรองยิ่งมีมากยิ่งไม่ต้องกลัว นี่คือความมั่นคงที่แท้จริง โดยรูปแบบของทักษะที่จะทำได้ดีและมาแรง ขอยกตัวอย่างเช่น คนที่เป็นกราฟิกดีไซน์ที่ขยับเข้าสู่การทำ User Experience Design ที่ช่วยดูแลการออกแบบ Product ด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน คนที่เป็น Content Creator ขยับเข้าสู่ Influencer หรือผู้มีอิทธิพลบนสื่อโซเชียลต่างๆ พัฒนาสู่การหารายได้ด้วย Affiliate Marketing ซึ่งทั้งสองตัวนี้มาแรงมาก” อ.นิติ  ขยายความต่อไป

“อยากให้ Gen Z คนรุ่นใหม่มีความมั่นใจในตัวเอง แน่นอนว่าต้องเจอแรงกดดันจากคนต่างวัย ที่มักจะบอกว่าคุณไม่เอาไหนและอะไรอีกเยอะแยะ แต่คุณต้องสื่อสารให้มาก อย่าปิดประตู เพราะปัญหาที่ไม่ควรเป็นปัญหาคือความไม่เข้าใจเพราะไม่ได้สื่อสารกัน  ขณะเดียวกันผู้ใหญ่หรือคน Gen ก่อนหน้าก็ต้องเปิดใจกับคน Gen Z พยายามสื่อสารกันให้มากขึ้น โลกในปัจจุบันมีอาชีพอีกมาก และเด็กยังมีเวลาที่เรียนรู้และพัฒนาทักษะ อย่างที่ก่อนหน้านี้ผมเล่าไปทักษะที่หลากหลายนี่แหละคือการการันตีความมั่นคงในยุคที่ไม่แน่นอน เชื่อได้เลยว่าคนรุ่นใหม่จะใช้ทักษะความชำนาญในด้านดิจิทัลมาช่วยให้องค์กร สังคม การเมือง ประเทศ เปลี่ยนไปในทางที่ดี สร้างความมั่งคั่งและเติบโตได้จริงๆ” อาจารย์นิติ ทิ้งท้าย