หลักสูตร

ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
ชื่อเต็ม(ภาษาไทย)
นิติศาสตรดุษฏีบัณฑิต
ชื่อย่อ(ภาษาไทย)
น.ด.
ชื่อเต็ม(ภาษาอังกฤษ)
Doctor of Law
ชื่อย่อ(ภาษาอังกฤษ)
LL.D.
ปรัชญา

มุ่งให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาของชาติ ปรัชญาของการอุดมศึกษา ปรัชญาของสถาบันอุดมศึกษา และมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพทางด้านกฎหมายที่เป็นสากล เน้นการพัฒนานักวิชาการและนักวิชาชีพทางด้านกฎหมายที่มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญระดับสูงในการทำวิจัยในสาขากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถบุกเบิกแสวงหาองค์ความรู้ใหม่ได้อย่างมีอิสระ เพื่อนำความรู้ ความสามารถและความชำนาญระดับสูงในการทำวิจัย และองค์ความรู้ใหม่ไปใช้ในการวิเคราะห์ แก้ปัญหาและทำข้อเสนอแนะ รวมทั้งมีความสามารถในการสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการทางด้านกฎหมายเชื่อมโยงและบูรณาการศาสตร์กับศาสตร์อื่นๆได้อย่างต่อเนื่อง มีคุณธรรม และจรรยาบรรณของวิชาการและวิชาชีพทางด้านกฎหมาย

ความสำคัญ

หลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตเปิดสอนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีความรู้ทางนิติศาสตร์เฉพาะด้านอย่างลึกซึ้ง สามารถค้นคว้าวิจัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเองเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้เจริญก้าวหน้า ดังนั้น หลักสูตรนี้จึงมุ่งเน้นให้ผู้เรียนศึกษาวิจัยประเด็นปัญหาทางกฎหมายในเชิงลึกตามที่ผู้เรียนสนใจภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของอาจารย์ที่ปรึกษาและคณะกรรมการบริหารหลักสูตร

ผู้ที่เข้าศึกษาในหลักสูตรได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยประเด็นปัญหาทางกฎหมายหลากหลายสาขาทั้งกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ ดุษฎีนิพนธ์แต่ละเล่มล้วนได้รับการชี้แนะและกลั่นกรองจากคณะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ทั้งจากภายในและนอกมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหลักประกันว่างานค้นคว้าวิจัยมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จนถึงปัจจุบัน หลักสูตรได้ผลิตดุษฎีบัณฑิตไปรับใช้สังคมในสาขาวิชาชีพต่างๆ เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้พิพากษา ตลอดจนนักกฎหมายในองค์กรภาครัฐและเอกชน

วัตถุประสงค์

เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

  1. มีความเป็นนักวิชาการและนักวิชาชีพทางนิติศาสตร์ระดับสูง
  2. มีความรู้ ความสามารถและความชำนาญระดับสูงในการทำวิจัย ในสาขากฎหมายที่มีความคาบเกี่ยวกับการวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์
  3. มีความสามารถนำความรู้ไปใช้ในการวิเคราะห์ แก้ปัญหา และทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับกฎหมาย และพัฒนากฎหมายเพื่อประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติ
  4. มีความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบของวิชาชีพในการรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมของกฎหมาย
ระยะเวลาการศึกษา

การจัดการศึกษาเป็นแบบทวิภาค โดย 1 ปีการศึกษาประกอบด้วยภาคการศึกษาปกติ 2 ภาค คือภาคต้น และภาคปลาย มีระยะเวลาเรียนแต่ละภาค 15 สัปดาห์ ระยะเวลาการศึกษาให้ใช้เวลาศึกษาไม่เกิน 6 ปีการศึกษา 

วัน – เวลา ในการดำเนินการเรียนการสอน

วันเสาร์ เวลา 9:00 – 16:00 น.
ภาคการศึกษาที่ 1 สิงหาคม – ธันวาคม
ภาคการศึกษาที่ 2 มกราคม – พฤษภาคม

ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร

    ประมาณ 750,000 บาท

คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา

1.  ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตต้องมีคุณสมบัติด้านการศึกษาดังต่อไปนี้

      1) สำเร็จปริญญาตรีทางนิติศาสตร์และสำเร็จปริญญาโททางนิติศาสตร์จากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่สภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์รับรองวิทยฐานะ หรือ

      2) สำเร็จปริญญาตรีทางนิติศาสตร์จากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่สภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์รับรองวิทยฐานะและสำเร็จปริญญาโทในศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ ศิลปศาสตร์ทางกฎหมาย สังคมศาสตร์ทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รัฐศาสตร์  รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือในสาขาวิชาอื่นจากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่สภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์รับรองวิทยฐานะและที่คณะกรรมการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตศึกษาทางนิติศาสตร์เห็นควรให้เข้าศึกษาได้ ทั้งนี้ ผู้เข้าศึกษาที่มีคุณสมบัติดังกล่าวต้องลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมายในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตศึกษาทางนิติศาสตร์กำหนด รวม 30 หน่วยกิต โดยแบ่งออกเป็นวิชาบังคับจำนวน 24 หน่วยกิต ดังนี้

  • วิชาทฤษฎีและหลักกฎหมายเอกชน                                     จำนวน 3 หน่วยกิต
  • วิชากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา                             จำนวน 3 หน่วยกิต
  • วิชาทฤษฎีและหลักกฎหมายมหาชน                                    จำนวน 3 หน่วยกิต
  • วิชากฎหมายปกครองชั้นสูง 1                                             จำนวน 3 หน่วยกิต
  • วิชาทฤษฎีและหลักกฎหมายอาญา                                      จำนวน 3 หน่วยกิต
  • วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเปรียบเทียบ                     จำนวน 3 หน่วยกิต
  • วิชากฎหมายแพ่งชั้นสูง                                                     จำนวน 2 หน่วยกิต
  • วิชากฎหมายปกครองชั้นสูง 2                                             จำนวน 2 หน่วยกิต
  • วิชาอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ                                            จำนวน 2 หน่วยกิต

           นอกจากนี้ผู้เข้าศึกษาที่มีคุณสมบัติข้างต้นต้องลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมายในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เพิ่มเติม เป็นวิชาเลือก ทั้งนี้ วิชาเลือกดังกล่าวต้องสอดคล้องกับการทำดุษฎีนิพนธ์ อีกจำนวน 6 หน่วยกิต

2.  ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตต้องมีคุณสมบัติเฉพาะทางดังต่อไปนี้

        1)  มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือภาษาอื่นที่คณะกรรมการดุษฎีบัณฑิตศึกษาทางนิติศาสตร์เห็นสมควรในระดับที่สามารถศึกษาค้นคว้าตามหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เสนอจากตำราต่างประเทศด้วยตนเองได้ ทั้งนี้ ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตต้องมีหลักฐานแสดงผลการสอบภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศอื่นตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์หรือของสถาบันภาษาต่างประเทศที่คณะกรรมการดุษฎีบัณฑิตศึกษาทางนิติศาสตร์กำหนด ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตที่ไม่มีหลักฐานแสดงผลการสอบภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศดังกล่าวต้องผ่านการสอบวัดคุณสมบัติด้านภาษาอังกฤษก่อนเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตที่ผ่านการสอบวัดคุณสมบัติด้านภาษาอังกฤษก่อนเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตแล้ว แต่ยังไม่พร้อมที่จะนำเสนอข้อเสนอ (proposal) และเค้าโครง (outlines) ในการทำวิทยานิพนธ์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ารับการสอบสัมภาษณ์คัดเลือกจากคณะกรรมการดุษฎีบัณฑิตศึกษาทางนิติศาสตร์ให้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตในภาคการศึกษาที่ได้ผ่านการสอบวัดคุณสมบัติด้านภาษาอังกฤษ มีสิทธินำผลการสอบวัดคุณสมบัติด้านภาษาอังกฤษไปใช้เป็นคุณสมบัติในการเข้ารับการสอบสัมภาษณ์คัดเลือกได้ในภาคการศึกษาต่อๆไปได้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการดุษฎีบัณฑิตศึกษาทางนิติศาสตร์ก่อน

       2)  มีประสบการณ์ในการทำวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิตหรือปริญญามหาบัณฑิตสาขาอื่นที่ไม่ใช่สาขานิติศาสตร์ ทั้งนี้ ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตร-ดุษฎีบัณฑิตต้องมีหนังสือรับรองว่าข้อเสนอ (proposal) และเค้าโครง (outlines) ในการทำดุษฎีนิพนธ์ในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตไม่ใช่ข้อเสนอ (proposal) และเค้าโครง (outlines) เดียวกันกับข้อเสนอ (proposal) และเค้าโครง (outlines) ในการทำวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิตศึกษาที่ผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตเคยเสนอต่อสถาบันการศึกษาแห่งอื่นมาก่อน สำหรับผู้สมัครเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตที่มีประสบการณ์ในการทำสารนิพนธ์ในระดับปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิตหรือปริญญามหาบัณฑิตสาขาอื่นที่ไม่ใช่สาขานิติศาสตร์ หากผ่านการสอบสัมภาษณ์คัดเลือกจากคณะกรรมการดุษฎีบัณฑิตศึกษาทางนิติศาสตร์ให้เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตต้องลงทะเบียนเรียนวิชากฎหมายในหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิตที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์เพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการดุษฎีบัณฑิตศึกษาทางนิติศาสตร์กำหนด

  • คุณสมบัติด้านอื่นๆ
  • ไม่เป็นผู้วิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • ไม่เป็นโรคเรื้อน วัณโรค ติดยาเสพติดให้โทษร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง หรือโรค ที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
  • ไม่เคยต้องจำคุก เว้นแต่ความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดอันเป็นลหุโทษ
  • ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือถูกออกจากสถาบันการศึกษาใดมาก่อน เนื่องจากถูกลงโทษทางวินัย
  • ผู้สมัครเข้าศึกษา และ/หรือ ผู้ปกครอง ต้องมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งติดต่อได้สะดวก
การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา

ผ่านการสอบสัมภาษณ์ด้านความพร้อมที่จะเข้าศึกษา พร้อมแสดงผลการศึกษาระดับปริญญาตรี แนวความคิดในการเรียน และโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา และให้ยึดถือหลักเกณฑ์ตามข้อกำหนดของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อาชีพที่สามารถประกอบได้เมื่อสำเร็จการศึกษา
  • อาจารย์
  • นักวิชาการ
  • นักวิจัย
  • ผู้พิพากษา
  • อัยการ
  • ที่ปรึกษากฎหมาย
  • ทนายความ
  • ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล
  • นักการเมือง
  • นักธุรกิจ